“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 22 กันยายน 2564 ตอน เนตร นาคสุข เงาหัวหาย เจอสองดาบ วินัย-อาญา
ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการอัยการหรือกอ. มีมติเมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา เห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุดผู้โด่งดัง
จากผลพวงคดีฉาว กรณี ทำความเห็น สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในคดีขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จนเกิดกระแส คุกมีไว้ขังคนจน
หลังจากที่ สำนักงานอัยการสูงสุด มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเบื้องต้น การสั่งคดีดังกล่าวของ เนตร นาคสุข โดยมีการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการสอบสวนมาแล้วถึงสามครั้ง
คือ ทั้งไพรัช วรปาณิ -ประสาน หัตถกรรม จนมาถึงคนสุดท้าย กายสิทธิ์ พิศวงปราการ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา
และใช้เวลาการสอบเบื้องต้น นานจะร่วมปี กว่าจะได้ข้อยุติ เพราะกอ. ตั้งกรรมการชุดแรกตอนเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว จนตอนนี้มาเดือนกันยายน 2564
จนสุดท้าย ผลการสอบสวนก็นำเข้าที่ประชุมกอ.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่มี พชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธานกอ.
มติที่ประชุมก.อ.มีการหักข้อสรุปรายงานการสอบสวนเบื้องต้น ลงแบบ พลิกความคาดหมาย เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กระแสสังคม วิพากษ์วิจารณ์ผลสรุปของอัยการอย่างหนัก เลยทำให้ กอ.หลายคน ไม่อาจทานกระแสได้
คณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น ได้สรุปสำนวนการตรวจสอบและทำความเห็นมาให้กอ.ว่า นายเนตร มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เพราะไม่พบการทุจริต แต่เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ เห็นควรงดบำเหน็จหรือไม่เลื่อนขั้นเป็นระยะเวลา 2 ปี และไม่เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัยการอาวุโส
แต่กอ. ที่มีนายพชร นั่งหัวโต๊ะ มีเสียงส่วนใหญ่ 9 เสียง จากที่ประชุมทั้งหมด 15 เสียง เห็นว่าการสั่งคดีดังกล่าวของนายเนตร ขาดความรอบคอบ ประมาทเลินเล่อ ค่อนข้างร้ายแรง มีมติให้สอบวินัยร้ายแรง หลังกอ. 4 เสียงงดออกความเห็น และอีก 2 คน ลาไม่เข้าประชุม
การถูกสอบวินัยร้ายแรงในวงราชการ ถือว่า เท่ากับโทษประหาร ทำให้ชีวิตด่างพร้อย แม้เกษียณหรือลาออกไปแล้ว ก็เสียประวัติราชการ
สิ่งที่สังคมต้องจับตาต่อไป ก็คือการสอบสวนในชั้นคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรง ที่กอ.ตั้งขึ้น ที่จะมี ธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ เป็นประธานการสอบวินัยร้ายแรง ที่จะมีระยะเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น 60 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาได้อีก 2-3ครั้ง รวมเป็น 180 วัน
รวมแล้ว ให้ใช้เวลาเต็มที่ แบบยื้อสุดๆ ก็ประมาณ 6 เดือน จะได้รู้กันว่า ชะตากรรมของ เนตร นาคสุข จะจบสวยหรือไม่สวย จะต้องมีประวัติด่างพร้อยในชีวิตราชการ ที่ขึ้นมาถึงรองอัยการสูงสุด หรือไม่
ขณะที่ระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับรองอัยการสูงสุด พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่มีการแก้ไขและทำระเบียบออกมาระบุว่า
"ในกรณีที่ ก.อ. เห็นว่ารองอัยการสูงสุดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้มีมติลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ แล้วแต่กรณี"
หากดูเส้นทางการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว น่าเชื่อว่าจะแล้วเสร็จออกมาก่อน การไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ที่ได้มีการ ตั้งองค์คณะไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา
ซึ่งการไต่สวนที่ใช้องค์คณะเป็นป.ป.ช.ชุดใหญ่ แต่ก็คุมสำนวนการไต่สวนโดยสามป.ป.ช. ที่หนึ่งในนั้นคือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เบื้องต้นจะสอบผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 15 คน แต่ระยะเวลาอาจจะนาน
เพราะก่อนหน้านี้ น.ส.สุภา ออกมาระบุไว้เมื่อเดือนสิงหาคมว่า คดีนี้จะทำให้เสร็จภายใน 1 ปี 4 เดือน เพราะเป็นคดีใหญ่ มีคนเกี่ยวข้องมาก เลยต้องใช้เวลาพอสมควร
โดยคนที่จะถูกป.ป.ช.เรียกมาให้การ 15 ราย ก็ล้วนไม่ธรรมดา เพราะมีทั้ง พนักงานสอบสวน ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งที่เกษียณไปแล้วและที่ยังรับราชการอยู่ พนักงานอัยการ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในกลุ่มนี้มีทั้ง นายตำรวจยศ พล.ต.อ. 2 คน ,พล.ต.ท. 2 คน ,พ.ต.อ. 2 คน , พ.ต.ท. 2 คน , พล.อ.ท. 2คน ,อัยการ 2 คน ,ทนายความ 1 คน และ นักการเมือง 2 คน
ชะตากรรมของเนตร นาคสุข จึงเหมือนกับแขวนอยู่บนเส้นด้าย แล้ว