รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 31 ส.ค.64 นำเสนอรายงานพิเศษ ย้อนรอย...คดีอุ้มฆ่า (1) “ป๋าลอ” ถึง “โจ้จอมโหด” ฆาตกรรมอำพรางหนีผิด
ผู้กำกับโจ้ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล เดินเข้าเรือนจำไปเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างรอการต่อสู้คดีฆ่าประชาชนตายคาโรงพัก
เขาวาดลวดลายความไม่ธรรมดาออกมาให้เห็นเป็นขวัญตา เริ่มจากการโฟนอินมาในวันแถลงข่าวจับกุม แสดงท่าทีอ่อนน้อม รับสารภาพอย่างลูกผู้ชาย พร้อมแอ่นอกปกป้องก๊วนลูกน้องที่ร่วมรุมทึ้งผู้ตาย
แฝงด้วยประโยคหล่อๆ มากมาย ประสาคนมีวาทศิลป์
แต่ในขั้นตอนฝากขัง ผู้กำกับโจ้พลิกลิ้นเรียบร้อยแล้ว เปลี่ยนเป็นให้การปฏิเสธ ตั้งแต่ชั้นสอบสวน
ไม่สนต่อคำพูดหล่อๆของตัวเอง ไม่แคร์กระแสสังคม ไม่แยแสต่อหลักฐานคลิป ที่บันทึกขั้นตอนการประทุษกรรมเหยื่อตั้งแต่ต้นจนจบ
ท่ามกลางความแคลงแคลง ไม่ไว้ใจอยู่แล้วของชาวบ้าน ที่พากันตั้งสมมติฐานไว้ก่อนเลยว่า งานนี้ไม่แคล้ว ตำรวจมันต้องช่วยกันเองแน่ๆ
สังคมยังมีคำถามดังๆ คดีนี้มี “หมอ” สมคบคิด ช่วยเหลือ “ตำรวจ” ในการกระทำผิดหรือไม่?
จากการลงผลชันสูตรศพเบื้องต้น ว่าเหยื่อผู้กำกับโจ้ เสียชีวิตด้วยสารแอมเฟตามีน หรือยาบ้า
ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับเหตุการณ์ในคลิปหลักฐาน ที่ผู้ตายถูกถุงดำครอบหัวจนหมดสติแน่นิ่งคาห้องสืบสวน โรงพักเมืองนครสวรรค์
ว่าไปแล้ว เมืองไทยเคยมีคดีสะเทือนวงการสีกากี เมื่อตำรวจฆ่าคนบริสุทธิ์ แล้วได้รับการช่วยเหลือจากหมอ
ย้อนไปยังคดีประวัติศาสตร์ อุ้มฆ่าสองแม่ลูกเพชรซาอุ
คดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 1 ส.ค. 2537 เมื่อมีการพบศพ นางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ เสียชีวิตภายในรถเบนซ์ ริมถนนมิตรภาพ ในเขต อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
ผู้ตายเป็นภรรยาและบุตรชายของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรย่านบ้านหม้อ ซึ่งนายสันติตกเป็นผู้ต้องสงสัยของตำรวจว่า รู้เห็นกับการหายไปของเพชรซาอุฯ เม็ดสำคัญ “บลูไดมอนด์”
แต่คดีนี้เป็นการฆาตกรรมอำพราง โดยฝีมือตำรวจเอง เนื่องจากก่อนประสบชะตากรรมร้าย นางดาราวดีและด.ช.เสรี ถูกด่านเถื่อน ดักอุ้มตัวไปจากกทม. ย่านตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2537
แล้วถูกนำตัวไปกักขังหน่วงเหนี่ยวในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ในเขต อ.เมืองสระแก้ว นานร่วม 1 เดือน ก่อนจะกลับออกมาในสภาพเป็นศพในรถเบนซ์
สุดท้ายมีการจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 คน เป็นทีมผสม คนในเครื่องแบบตำรวจ และโจรพลเรือน นำทีมโดย พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผบช.ประจำกรมตำรวจ และพ.ต.ท.พันศักดิ์ มงคลศิลป์ สว.สส.สภ.เมืองปราจีนบุรี ยศและตำแหน่งขณะนั้น
พล.ต.ท.ชลอ ยืนกรานปฏิเสธสู้คดีทั้ง 3 ศาล จนในที่สุด ศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2552
แต่ “ป๋าลอ” ไม่ได้รับโทษประหารจริงแต่อย่างใด หากแต่ได้รับการพักโทษ ปล่อยตัวออกมาเมื่อปี 2556 หลังใช้ชีวิตในคุกนาน 19 ปี ในสภาพอดีตนักโทษชรานั่งรถเข็น ผู้ที่แต่เดิมมีฉายา“มือปราบพระกาฬ” ต้องมีชีวิตบั้นปลายสุดเศร้า เพราะแม้ป๋าลอไม่ได้สั่งให้ลูกน้องฆ่า แต่ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
ขณะที่มือปฏิบัติการอย่าง พ.ต.ท.พันศักดิ์ใช้วิธีรับสารภาพ ว่าเขานำทีมไปดักอุ้มสองแม่ลูกเอง และนำตัวไปกักขังนานนับเดือน ระหว่างนั้นก็รีดค่าไถ่จากนายสันติ ได้เงินไป 2.5 ล้านบาท
ในวันตัดสินใจฆ่าทิ้งสองแม่ลูก ก็วางแผนให้เป็นคดีรถชน โดยนำทั้งสองและรถเบนซ์ เดินทางจาก จ.สระแก้ว มาปลิดชีวิตที่ จ.สระบุรี ด้วยการใช้เหล็กแป๊ปตีศีรษะทีละคน
จากนั้น นำศพเข้าไปในรถเบนซ์ จัดท่าให้นั่งคู่กัน ก่อนเข็นรถเบนซ์ออกจากข้างทางกลางดึก เพื่อให้รถบรรทุกแล่นชน
จากคำสารภาพเหล่านั้น ศาลจึงปรานีลดโทษเหลือจำคุก 40 ปี แล้วได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษตามวาระ จนพ้นคุกออกมาเมื่อปี 2555 รวมใช้ชีวิตในคุก 18 ปี
จากคำถามคดีโจ้จอมโหด มี “หมอ” สมคบคิด ช่วยเหลือ “ตำรวจ” ในการกระทำผิดหรือไม่?
จากการลงผลชันสูตรศพเบื้องต้น ว่าเหยื่อผู้กำกับโจ้ เสียชีวิตด้วยสารแอมเฟตามีน หรือยาบ้า คำตอบคือก็มีความเป็นไปได้
เช่นเดียวกับ คดีสังหารโหดสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ในอดีต ได้สร้างหลักฐานเท็จ จากใบรับรองแพทย์ และใช้หมอนิติเวชเป็นพยานเท็จมาช่วย แต่ไม่สำเร็จ เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามตอนสอง ย้อนรอยคดีอุ้มฆ่า หมอช่วยปั้นพยานเท็จ ในถอน.....หมุดข่าว