เผยเหตุ “สราวุธ เบญจกุล” ฟ้อง ปธ.ศาลฎีกาและพวกต่อศาลปกครอง กล่าวหาตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรงกรณีปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง โดยมิชอบ แต่กลับไม่ฟ้อง กก.สอบข้อเท็จจริงขั้นต้น ขณะเดียวกันเกิดคำถาม ควรให้ “สราวุธ” เป็นกรรมการหรือตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานภายนอกต่อหรือไม่ เหตุถูกสอบวินัยร้ายแรง
ความคืบหน้ากรณีโครงการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนงเป็นศาลแพ่งและศาลอาญาพระโขนง วงเงิน 42.3 ล้านบาท โดยผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรมรายหนึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา ถูกร้องเรียนว่ามีเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุงอาคารก่อนที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะประกาศประกวดราคาและลงนามทำสัญญากับเอกชนอย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันประธานศาลฎีกาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงต่อผู้บริหารระดับสูงรายนี้แล้ว หลังจากให้โอกาสเข้าชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 5 ก.ค.2564 ที่ผ่านมานั้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ ส.ต.ง.ก็ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง และมีการกีดกันมิให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม จึงส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่ ส.ค.2563
ต่อมาเมื่อเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง ฟ้องนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กับพวกรวม 5 ราย เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้ประทับรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ บ.271/2564 และเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา มีการตั้งตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว
นายสราวุธ ได้บรรยายฟ้องเอาไว้ว่า ประธานศาลฎีกาที่ 1 กับพวกรวม 5 ราย กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 889/2564 ลงวันที่ 19 ส.ค. 2564 แต่งตั้ง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3-5 เป็นคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี นายสราวุธ กรณีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง เป็นกรณีถูกกล่าวหาหลังจากพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว แต่การออกคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งที่ตามกฎหมายแล้วต้องดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน จึงนำคดีมาฟ้อง และ เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง ที่ถูกกล่าวหา
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า คณะกรรมการสอบสวนวินัย 3 คน ที่ถูกฟ้องเพิ่งทราบคำสั่งตั้งกรรมการเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ส.ค.64 ยังมิได้เริ่มดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการสอบสวนเลย แต่นายสราวุธไม่ฟ้องคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นที่มีมติว่า การกระทำของนายสราวุธมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง คงเพราะเห็นชื่อประธานกรรมการและกรรมการแล้วคงกลัว จึงยื่นต่อศาลปกครองหาเรื่องฟ้องไปก่อน เพื่ออาจมีเหตุผลคัดค้านตัวกรรมการภายหลัง
ก่อนหน้านี้นายสราวุธเคยทำหนังสือถึงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ขอความเป็นธรรม กรณีถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนงดังกล่าว โดยระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม จึงมีฐานะเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม การดำเนินการทางวินัยของข้าราชการศาลยุติธรรมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 73 โดย ก.ต.มีอำนาจดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการศาลยุติธรรมเฉพาะกรณีข้าราชการตุลาการโอนมาจากข้าราชการศาลยุติธรรมเท่านั้น
ส่วนกรณีตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 22 (1) ระบุให้ ก.ต.ดำเนินการทางวินัยแต่เฉพาะเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเท่านั้น หาได้รวมถึงตำแหน่งอื่นของข้าราชการศาลยุติธรรมไม่ และการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการศาลยุติธรรมจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งออกกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 57 กำหนดไว้ว่า กรณีมีการย้าย การโอน หรือการเลื่อนผู้ถูกกล่าวหา อันมีผลทำให้ผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเปลี่ยนไป ให้ผู้บังคับบัญชาเดิมส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาใหม่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อขณะนี้ นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว ปัจจุบัน นายสราวุธ ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม และมีตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานภายนอก เช่น นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อนุกรรมการ กตร. กรรมการทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประธานบอร์ด ก.ล.ต. ประธานบอร์ดการท่าอากาศยาน (AOT) ประธานกรรมการสหกรณ์ศาลยุติธรรม ประธานกรรมการธุรกรรม (ปปง.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ป.ป.ช. และกรรมการคดีพิเศษ ของดีเอสไอ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานราชการและฝ่ายการเมือง
ดังนั้น ประเด็นที่เป็นคำถามขณะนี้ คือ สำนักงานศาลยุติธรรมน่าจะพิจารณาว่า ควรอนุญาตให้ยังสมควรให้นายสราวุธไปทำหน้าที่อื่นๆ ในหน่วยงานภายนอกต่อไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้น ก็ควรแจ้งคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงให้หน่วยงานอื่นทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป สรุปว่า เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป