xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์สั่ง “ดร.เซปิง” จ่ายเพิ่มสาวลาว ผู้เสียหายเฟซออฟ ฐานโฆษณาเกินจริง 1 เเสนบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นางคำหล้า อินดาวง หญิงสาวชาวลาว  ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ศาลอุทธรณ์เเผนกคดีผู้บริโภคสั่ง “ดร.เซปิง” จ่ายหญิงลาว ทำศัลยกรรมเฟซออฟ ฐานโฆษณาเกินจริง เพิ่มเติมจาก 5 หมื่นบาท เป็น 1 เเสนบาท ด้านทนายจ่อยื่นฎีกาเรียกค่าเสียหายอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีระหว่าง นางคำหล้า อินดาวง หญิงสาวชาวลาว เป็นโจทก์ ฟ้อง น.ส.เซปิง ไชยศาส์น หรือ ดร.เซปิง ประธานโครงการเฟซออฟ, นายบทมากร วัฒนะนนท์ (เจ้าของบัญชีโอนเงิน), บริษัท เอ็ม เอส เซอร์เจอรี่ เซ็นเตอร์ (รพ.)และ นายกมล พันธ์ศรีทุม (แพทย์ที่ทำการผ่าตัด) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับในฐานความผิดเรื่องละเมิดโฆษณาศัลยกรรมเกินจริง เรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์ 6,885,000 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2559

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ว่า โจทก์ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านนวดที่ประเทศเยอรมนี ที่ได้รับความเสียหายจากการศัลยกรรมเชื่อว่าจะทำหน้าให้เด็กลง สืบเนื่องจากโจทก์ได้ดูโฆษณาผ่าน YouTube และเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 เมื่อเดือน ต.ค. 2560 แล้วหลงเชื่อคำโฆษณาที่ว่าผ่าตัดดึงหน้า ไร้รอยแผลเป็น ไม่เจ็บ หน้าจะเด็กลง มีการโอนเงินค่าจองคิวเข้าร่วมโครงการและค่าใช้จ่ายผ่าตัดดึงหน้า 3 จุด กับดึงหนังที่ห้อยบริเวณคางและคอ ค่าผ่าตัดรวม 385,000 บาท จึงฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิด และค่าเดินทางดำเนินคดี, ค่าเสียอิสรภาพ, ค่าขาดรายได้ในชีวิตประจำวันในการประกอบธุรกิจที่ประเทศเยอรมนี

ศาลชั้นต้นมีพิพากษาเมื่อ วันที่ 20 มี.ค. 2563 ให้ น.ส.เซปิง จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5 หมื่นบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ส่วนจำเลยที่ 2-4 ศาลพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ และ น.ส.เซปิง จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ภายหลัง นายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน ทนายความโจทก์ กล่าวว่า เคารพคำตัดสินของศาล แต่ยังมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย เช่น ประเด็นสำคัญเรื่องค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ไว้แล้ว และเป็นข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์ ดังนั้น จะปรึกษากับตัวความว่าจะประสงค์จะฎีกาต่อหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น