ปธ.ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยคดี"ประหยัด พวงจำปา" ฟ้อง 3 บิ๊กยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดไต่สวนมูลฟ้อง 9 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบภาค 1 ได้อ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ ที่วท13/2564 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 คดีหมายเลขดำที่ อท.84/2563 นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานปปช.,น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมพงศ์ อสส. เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200 ,91 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172,183
โดยวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยที่ 2-3 ยื่นคำร้องอ้างว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา10(1) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560ขอให้เสนอปัญหาเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นไปให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2555 มาตรา 11 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องพร้อมสำนวนมายังประธานศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัย
พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายและมีคำขอท้ายฟ้องสรุปได้ความว่าจำเลยทั้งสามมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยที่ 1-2 และคณะกรรมการ ปปช.ออกระเบียบการยื่นบัญชีการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 158 ซึ่งบัญญัติวางหลักไว้ว่าในการดำเนินคดีกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลตามวรรคหนึ่งแห่ง มาตรา 158 ให้นำความในมาตรา 43 มาใช้บังคับด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินของโจทก์เข้าข่ายเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนา ไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินจะต้องส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
จำเลยที่ 1,2 และคณะกรรมการ ปปช.ไม่อาจกำหนดระเบียบที่ขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวได้เพราะเจตนารมณ์ที่บัญญัติแห่งกฎหมาย มาตรา 158 วรรคท้ายกำหนดไว้เช่นนั้น เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ให้ ป.ป.ช. กำหนดระเบียบมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นการเฉพาะก็ได้ให้นำความในมาตรา 43 มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับบุคคลตามมาตรา 158 วรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลมเช่นเดียวกับคณะกรรมการ ปปช.กระทำผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน
โจทก์ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป จึงต้องผ่านการตรวจสอบหรือผ่านการกลั่นกรองจากประธานวุฒิสภา เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ประธานวุฒิสภาอาจแต่งตั้งมอบหมายบุคคลหรือคณะบุคคลให้มีการพิจารณาการกระทำของเจ้าหน้าที่กรณีที่เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินและพิจารณาการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินก่อนส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการได้
การที่จำเลยที่ 1,2 และคณะกรรมการปปช.กำหนดระเบียบไว้ในข้อ 35 และต่อมาส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีแก่โจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 158 และ 43 จำเลยที่ 1,2 เเละคณะกรรมการ ป.ป
ช. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์
โดยจำเลยที่ 1,2 และคณะกรรมการป.ป.ช.มีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 เรื่องขอให้ดำเนินคดีกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินโดยมีมติส่งเรื่องให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการฟ้องคดีโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งนับ แต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
โดยไม่ผ่านประธานวุฒิสภาเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอย่างร้ายแรงและเป็นการกลั่นแกล้งเลือกปฏิบัติทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมีเจตนาให้โจทก์ต้องได้รับโทษทางอาญา ทำให้โจทก์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยมีคำสั่งฟ้องคดีโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในข้อหาจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน
โจทก์มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อจำเลยที่ 3 หลายครั้ง แต่จำเลยที่ 3 ใช้อำนาจหน้าที่มีคำสั่งฟ้องคดีโจทก์โดยไม่พิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรมของโจทก์ให้ถึงที่สุด การสั่งฟ้องของจำเลยที่ 3 ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และทราบดีว่าตนไม่มีอำนาจฟ้อง โดยไม่ผ่าน ประธานวุฒิสภาแต่กลับมีคำสั่งฟ้องคดี จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไม่สุจริต อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ และเป็นการร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างคณะกรรมการ ปปช.โดยจำเลยที่1-3 และหรือเป็นการกระทำความผิดส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง ในการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งฟ้องคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญาและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ทั้งที่โจทก์ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดอาญา
เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1,2 เป็นการกล่าวหาว่ากรรมการ ป.ป.ช. ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติถึงการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีดังกล่าวไว้ในมาตรา44,56 โดยประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาและเสนอเรื่องมายังประธานศาลฎีกา ให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระเพื่อดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและทำความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว หากคณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหาให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอสส.เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล และมาตรา 10(2) บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่คดีนี้ไม่ใช่การดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. โดยคณะผู้ไต่สวนอิสระจึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อย่างไรก็ตามผู้เสียหาย ยังคงมีอำนาจฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 24(2) ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,200 พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561 มาตรา 172,183 อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นหรือความผิดอื่น อันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ
ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2555 มาตรา 3วรรคหนึ่ง (1) วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
โดยกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 9 ส.ค.2564 เวลา 09.00 น.