“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 ตอน แผนล็อกดาวน์ลักหลับ! โยนประทัดใส่คนงาน
สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ระลอกที่ 3 หนักจริงๆ และยังไม่สามารถสยบได้ นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว กลายเป็นว่า ยิ่งนานยิ่งทรุด แม้รัฐบาลออกมาตรการแก้ไข เช่นการเร่งปูพรมฉีดวัคซีน คิกออฟเกือบครบ 1 เดือนแล้ว แต่ยังไม่บรรลุผล
เพราะติดปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนที่ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในมุมกลับ ที่รัฐบาลถูกด่า การจัดหาและแบ่งปันวัคซีนฝนตก ไม่เว้นแต่ละวัน
ปรากฏว่า หลังจากพบตัวเลขผู้ติดเชื้อโตวิดนับตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. ขึ้นหลักพันทุกวัน และมีผู้เสียชีวิตหลัก 30-40 คน เรื่อยมาถึงเดือน มิ.ย. โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่าน ตัวเลขผู้ติดชื้อรายวันเริ่มทยานขึ้นเป็น 3,000 – 4,000 ราย เสียชีวิต 40-50 คน
จำนวนคนป่วยใหม่ทำสถิติ “นิวไฮ” ก็ในวันจันทร์เปิดสัปดาห์นี้ ด้วยตัวเลขคนติดเชื้อใหม่ 5,406 ตาย 22 คน ที่หลายฝ่ายเห็นแล้วตกใจและกังวล
แต่สถานการณ์ที่น่ากลัวมากกว่าปัญหาอื่นใด ก็คือ เรื่องจำนวนเตียงผู้ป่วยสีแดงหรือไอซียูไม่เพียงพอ ทำให้เห็นปลายทางล่มสลายของระบบสาธารณสุข เท่ากับว่า ต่อไปนี้คนป่วยโอกาสเป็นศพเพราะพิษโควิดมีสูงกว่าก่อนแล้ว
ทุกฝ่ายเป็นห่วงห่าโควิดจะทำบ้านเมืองพินาศ โดยเฉพาะหมอ จากการส่งเสียงเตือนของคณะแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ประกาศ “กึ่งล็อกดาวน์” พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 4 จ.ชายแดนภาคใต้ ชนิดแทบตั้งหลักกันไม่ทัน
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรีบนำประชุมพิจารณาข้อเสนอมาตรการล็อกดาวน์ ใช้เวลาประชุมนาน 3 ชั่วโมง ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25มิ.ย.ที่ผ่านมา หลัง “คณะแพทย์” ได้ส่งสัญญาณอันตรายมาถึงรัฐบาล และจี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจ “ใช้ยาแรง” ในการควบคุมพื้นที่ระบาดหนัก
มีรายงานข่าว หลังจากการประชุมและก่อนการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ว่า จะใช้ “โมเดลเมษาฯ63” ในพื้นที่ระบาดหนักเท่านั้น ที่ไม่ล็อกดาวน์ทั้งหมดเต็มรูปแบบ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มี “ชุดข้อมูล-ชุดความคิด” การล็อกดาวน์ ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า “เจ็บแล้วจะจบ”
ในการแถลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่มีการล็อกดาวน์ แต่จะมีมาตรการปิดแคมป์คนงาน ไซต์งานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการเดินทางของแรงงานที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28มิ.ย.เป็นต้นไป
รวมทั้งยืนยันว่าไม่มีการปิดร้านอาหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ติดตามรายละเอียดช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา แล้วความจริงก็ไม่เป็นตามที่แถลงข่าวไว้ โดยระเบียบมาตรการได้ประกาศออกมาในช่วงตี 1 ของวันอาทิตย์ที่ 27มิ.ย. เท่ากับว่าประกาศล่วงหน้าเพียง 1 วันก่อนบังคับใช้จริง จึงถูกโจมตีว่าเป็น “มาตรการลักหลับ”
ซ้ำร้ายระเบียบกลับมีความเข้มข้นกว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าว นั่นคือการห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบ ซึ่งรายละเอียดมาตรการต่างๆ มีลักษณะคล้ายกับ “โมเดลเมษาฯ63” โดยแตกต่างกันที่ไม่ได้ปิดทุกกิจกรรม-กิจการ และไม่ได้บังคับใช้ทั้งประเทศ เช่นปีที่แล้ว
ส่วนจังหวัดอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ 10 จังหวัดข้างต้น ให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการ “ปิดพื้นที่” แต่ละแคมป์แรงงาน หากพบการแพร่ระบาดมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากร
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการประชุม ที่ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่ามีความเข้มข้นอย่างมาก บุคคลที่ถือว่ามีเสียงสำคัญในที่ประชุม หนึ่งในนั้นคือ “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ส่ง “สัญญาณยอม” ให้มีการล็อกดาวน์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บิ๊กป๊อกไม่เห็นด้วยในมาตรการล็อคดาวน์
เพราะว่ากันว่าหากคราวนี้ รัฐบาลไม่ทำตามที่ “คณะหมอ” เสนอขึ้นมา อาจได้เห็น “ฉากแตกหัก” ก็เป็นได้ แต่สุดท้ายฉากดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น เพราะครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดแนวทาง “คณะหมอ” พร้อมกับ “ประคองเศรษฐกิจ”
เป็นการพบกันครึ่งทาง ทำให้การ “ล็อกดาวน์ครึ่งใบ” ครั้งนี้ ไม่บังคับทั่วประเทศ และปิดเฉพาะจุดที่เป็น “คลัสเตอร์”
การเลือกยุทธวิธีตามที่ประกาศนั้น จัดว่า เป็นเป็นหลักคิด ยอมแพ้ศึกแต่ชนะสงคราม คือประกาศปิดแคมป์วันศุกร์บังคับใช้วันจันทร์ มีเวลาให้คนงานเดินทางกลับต่างจังหวัด
ถ้าล๊อคแคมป์ห้ามเคลื่อนย้ายทันที ระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ พัง ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ไม่มีเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ที่รับได้ เนื่องจากจำนวนคนงานในกรุงเทพ 1ล้านคนที่เป็นไทย4แสนคนและต่างด้าวอีก 6แสนคน หากยังไม่ทำอะไรปล่อยไปแบบนี้เกือบทั้งหมดจะติดโควิด
ปฏิบัติงานเลือกปกป้องกรุงเทพให้รอด ด้วยการลดจำนวนเคสในกรุง ลดงานในกรุง ลดความแออัดในกรุง ส่งคนงานกลับย้าน ในขณะเดียวกันในต่างจังหวัด ให้ทีมอสมจับตาดูอยู่แล้ว ต่อให้ติดก็ไปกักตัวตจว.ถ้าป่วยก็ให้หมอตจว.ช่วยดู เพราะตอนนี้ หลายจังหวัดปิดโรงพยาบาลสนามหมดแล้ว เพราะไม่มีเคส ถ้ากักตัวในแคมป์ ถ้าป่วยก็หนักหมอใน กทม. ดังนั้นวิธีนี้คือโยนประทัดไปให้คนงานตกใจแล้วหนีกลับบ้าน กลยุทธ์นี้ให้นึกถึงโมเดลรอบแรกไว้ที่ว่าพอใครกลับถึงหมู่บ้านแล้วมี อสม ประกบทันที
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ก็จับขึ้นทะเบียนและควบคุมให้หมด ได้เอาขยะใต้พรมออกมาด้วย
ผลลัพธ์จากมาตรการนี้ สามารถลดโทนความเดือด ความรุนแรงของหมอในกรุงเทพเบาลง ไปมากในทันที นายกฯยอมถูกด่าตามคำแนะนำหมอ เพื่อให้ระบบสาธารสุขกรุงเทพไม่ล่ม และยอมแพ้ศึกวันนี้เพื่อให้ชนะสงครามในที่สุด
แต่ก็เกิดคำถามตีกลับมาว่า “ร้านอาหารทั่วไป-รายย่อย” เป็นคลัสเตอร์ได้อย่างไร ? ซึ่งต้องซวยอีกรอบ เพราะรายได้หลักมาจากการนั่งทานในร้าน พร้อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “ห้างทุนหนา-ร้านสะดวกทุนใหญ่” ที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่
ทั้งหมดนี้ สะท้อนภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในอาการ “เมาหมัด” จากพิษโควิด ที่ต้องใช้กำลังภายในเป็นอย่างมาก ต้องแบกรับภาระคนเดียว อันเป็นผลพวงจากความไม่เป็นเอกภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีลักษณะต่างคนต่างทำ
ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนเข้ามาร่วมวงแก้ปัญหาด้วยทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแบกรับทั้งหมด ซึ่งก็เป็นผลมาจากการ “รวบอำนาจรัฐบาล” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผูกเงื่อนนี้ขึ้นเอง ก็ต้องแก้ด้วยตัวเองให้ได้