MGR Online - มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พาครอบครัว “วันเฉลิม-สยาม” ผู้สูญหายในต่างประเทศ จี้ถาม อธิบดีดีเอสไอ วอนช่วยเหลือติดตามคดี ยกเคส “บิลลี่” ยังทำสำเร็จมาแล้ว
วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อม น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้สูญหายในประเทศกัมพูชา และ นางกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของนายสยาม ธีรวุฒิ ผู้สูญหายในประเทศเวียดนาม เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีดีเอสไอ เพื่อติดตามสำนวนคดีและสอบถามความคืบหน้าคดีการบังคับสูญหาย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐไทยมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ ที่ผ่านมาพบว่ามีบุคคลสูญหายในต่างประเทศหรือระหว่างการเดินทางในต่างประเทศแบบผิดปกติ โดยเฉพาะกรณีของ นายวันเฉลิม และ นายสยาม มีการถูกบังคับให้สูญหายแต่คดีไม่มีความคืบหน้า หรือมีความชัดเจนในการสืบสวนสอบสวน ทั้งๆ ที่การหายตัวไปของบุคคลเหล่านี้ไม่ได้หายแบบปกติ แต่มีข้อมูลชี้ว่าเกิดจากการกระทำเป็นขบวนการและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งในคลิปมีการอุ้มหายจากย่านที่พักอาศัย คดีนี้ถือว่าเป็นการถูกบังคับให้สูญหายในต่างประเทศ
“ดีเอสไอ เคยทำคดี นายพอละจี หรือ บิลลี่ รักจงเจริญ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้สูญหายจนประสบความสำเร็จ จึงหวังว่า 2 กรณีดังกล่าว ดีเอสไอ จะดำเนินการให้มีความชัดเจนเช่นเดียวกัน”
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้เห็นด้วยกับการผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จำนวน 30,000 รายชื่อ ผ่านทางเว็บไซต์ http://chng.it/JVTLN8GqH8 ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. - 26 มิ.ย. 64 เพื่อนำรายชื่อทั้งหมดเสนอต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้เร่งรัดลำดับวาระพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมีผู้เสนอรวมทั้ง 4 ฉบับ อันประกอบด้วย ฉบับของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐร่วมกับ พรรคก้าวไกล ฉบับของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ฉบับของ ส.ส.พรรคประชาชาติ และฉบับของรัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม เข้าสู่ที่ประชุมสภาและมีมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกบังคับสูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยว่า ดีเอสไอ มอบหมายกองคดีความมั่นคง ให้เร่งติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความจริงให้ปรากฏแต่เนื่องจากการสูญหายของบุคคลทั้ง 2 รายเกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยการทำคดีระหว่างประเทศทางสำนักงานอัยการสูงสุดจะแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ต่างจากคดีของบิลลี่ ซึ่งดีเอสไอสามารถดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่