xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : “ภูมิใจไทย”ฮึด หนี “แพะรับบาป”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 28 เมษายน 2564 ตอน “ภูมิใจไทย”ฮึด หนี “แพะรับบาป”



ฮือฮาไม่น้อยมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อการประชุมวันที่ 27 เม.ย.64 ที่ผ่านมา ที่อนุมัติประกาศอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นฉบับที่ 3

หลังจากที่มีการประกาศฉบับที่ 1 เมื่อเดือน มี.ค.63 และฉบับที่ 2 เมื่อเดือน พ.ค.63 ในช่วงสถานการณ์แก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ระลอกแรก เมื่อปีกลาย

โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับที่ 3 ก็เป็นการ “รวบตึง” อำนาจกฎหมาย 31 ฉบับ ที่ปกติจะมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย มาไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียวเป็นการชั่วคราว

โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการรวบอำนาจ 31 พระราชบัญญัติในครั้งนี้ยังถือว่าน้อยกว่าการประกาศฉบับแรกที่มีการรวบอำนาจกฎหมายถึง 40 ฉบับ ก่อนที่สถานการณ์คลี่คลาย และออกฉบับที่ 2 เหลือเพียง พระราชบัญญัติโรคติดต่อ เพียงฉบับเดียว

การหวนกลับมาประกาศยึดอำนาจรัฐมนตรีจากกฎหมาย 31 ฉบับมาให้นายกรัฐมนตรี เป็นในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งถูกโจมตีถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในแทบทุกมิติ

เป็นจังหวะเดียวกับที่มีความเคลื่อนไหวจากพรรคภูมิใจไทย ที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข ที่ควรจะเป็นแกนหลักในการรับมือและแก้ไขวิกฤตโควิด-19 โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกโจมตีอย่างหนัก และถูกกลุ่มหมอไม่ทน ล่าชื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง

ในขณะเดียวกัน เสี่ยหนู อนุทินได้โพสต์ข้อความขอบคุณผู้เห็นใจ โดยบางช่วงบางตอนกล่าวไปถึงการถูกยึดอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขโดยนายกรัฐมนตรี แต่นายอนุทินก็ได้ปฏิเสธ พร้อมระบุว่า ในฐานะผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของนายกฯมาโดยตลอด

เสี่ยหนูขีดเส้นใต้ว่า ที่ผ่านมา ศบค. เป็นผู้บริหารแบบ Single command มาตั้งแต่ต้น กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติตามนโยบาย ศบค. ด้วยดีมาตลอด แม้จะไม่เห็นด้วยในบางเรื่องก็ตาม

การชี้แจงแถลงไขของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ครั้งนี้ จึงไม่พ้นถูกตีความไปว่า เป็นการโยนข้อวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลล้มเหลวทั้งหมดไปที่นายกฯ และ ศบค.

สำทับกับ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ที่แชร์บทความที่เผยแพร่ผ่านสื่อแห่งหนึ่งที่เสนอให้ “ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ยุบทิ้ง ศบค.” พร้อมกันนี้ นายศุภชัย หรือ ส.ส.บังซุป ยังได้เพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวลงไปในทำนองว่า รัฐบาลถนัดแต่ใช้ “อำนาจพิเศษ” และผิดพลาดที่ใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ มาเป็นหลักแทนกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญคือการตัดความมีส่วนร่วมของ “ภาคการเมือง” ออกไป

จนถูกบรรดา “องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่” ออกมาตอบโต้กลับแบบสาดเสียเทเสีย

แน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทยย่อมติดใจแนวทางการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของ พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด เพราะไม่เพียงเฉพาะอำนาจทางกฎหมายเท่านั้นที่ถูกยึดไป กระทั่งโครงสร้างของ ศบค. ก็ถูกกันออกมาอยู่ “วงนอก”

ตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ออกคำสั่งจัดโครงสร้างของ ศบค. ในลักษณะ “ลัดวงจร” ต่อตรงไปที่ “ข้าราชการประจำ” ในระดับปลัดกระทรวงต่างให้เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่างๆใน ศบค. แทนที่จะเป็นฝ่ายการเมือง หรือรัฐมนตรี รับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น

พรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะนายอนุทิน อาจจะรู้สึกว่า ช่วงวิกฤตการณ์โควิด กระทรวงสาธารณสุขที่กำกับดูแล กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ก่อนใครเพื่อน เวลามีปัญหา มักต้อง “รับผิด” ไม่ได้ “รับชอบ” ด้วย

กระทั่งการระบาดในระลอกที่ 3 ที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งกรณีปล่อยให้มีการแพร่ระบาดโดยไม่สามารถกระทรวงสาธารณสุข กลายเป็นตำบลกระสุนตก ก่อนใครเพื่อนระงับยับยั้งไเ่ ความล่าช้าการบริหารจัดการวัคซีน ภาวะบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน หรือเตียงรักษาไม่เพียงพอ นายอนุทิน หรือ “หมอหนู” ก็ถูกถล่มอย่างหนัก จนถูกกลุ่มหมอไม่ทนล่ารายชื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง

การที่คนของพรรคภูมิใจไทยออกมาป่าวประกาศประเด็นว่า “ถูกนายกฯยึดอำนาจ” และย้ำว่า ที่ผ่านมาทำได้เพียงปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น ก็มองได้ว่าเป็นความพยายาม “ดีดตัว” ออกจากสถานะ “แพะรับบาป” และชี้ไปว่าทุกอย่างอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว

ส่วนที่ว่าเป็นการส่งสารท้ารบ หรือแตกหัก เตรียมตีจากถึงขั้นออกจากรัฐบาล คงไม่ไกลถึงขนาดนั้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น