“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 20 เมษายน 2564 ตอน คดีหุ้นสื่อ "ธนาธร" จบแบบไหน อัยการ งัดข้อศาล รธน.?
เส้นทางคดีความของนักการเมืองคนดัง ที่แม้จะถูกตัดสิทธิการเมืองยาวนานถึงสิบปี แต่ทุกย่างก้าวยังอยู่ในความสนใจของสังคมเสมอมา นั่นก็คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า-อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความส่วนตัวของ ธนาธร เปิดเผยไว้ว่า ในวันพฤหัสบดีนี้ 22 เมษายน อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้นัด ธนาธรและทนายความมา ฟังคำสั่งคดีของอัยการในคดีที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. มีมติให้แจ้งความดำเนินคดีอาญา ธนาธร
ในข้อหาถือหุ้นสื่อ บริษัทวีลัค มีเดีย ก่อนการเลือกตั้งส.ส. และต่อมาพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง ได้มีความเห็นสั่งฟ้องธนาธร ในข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งส.ส. ฯ จนมีการส่งสำนวนไปให้อัยการ
โดยนัดหมายดังกล่าว เป็นการนัดรอบที่สอง หลังก่อนหน้านี้ อัยการได้เลื่อนมาจาก 19 ก.พ. 2564 มาเป็น 22 เมษายน นี้
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน มีกระแสข่าวทำนองว่า อัยการอาจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร เนื่องจากเห็นว่า ธนาธร ไม่ได้มีเจตนา หรือ ปกปิด การถือครองหุ้นสื่อ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืน พรบ.เลือกตั้งส.ส. ฯ ตามมติของกกต.และสำนวนการสอบสวนของตำรวจ
ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข่าวยืนยันแน่ชัดว่า สุดท้ายแล้ว อัยการจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร จริงหรือไม่ ทำให้ต้องดูว่า พฤหัสบดีนี้ ตามที่ทนายความ ของธนาธร บอกไว้ ว่าสุดท้ายแล้ว อัยการจะมีความเห็นทางคดีนี้อย่างไร ที่รูปคดี ก็ออกมาได้สามเส้นทาง คือ
หนึ่ง อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร...
อาจเป็นความเห็นที่อัยการมองว่า ธนาธร ไม่ได้มีเจตนาปกปิดหรืออำพรางว่า ถือหุ้นบริษัทวีลัค มีเดีย ที่เป็นบริษัทในครอบครัว ขณะยื่นลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. พรรคอนาคตใหม่ โดยอัยการอาจดูจากพยานหลักฐานต่างๆ แล้วใช้หลัก เจตนา มาสั่งคดี จนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยตัดสินออกมาแล้วว่า ธนาธร ถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง จึงตัดสินให้พ้นจากการเป็นส.ส. เมื่อ 20 พ.ย. 2562
ดังนั้น หากอัยการ สั่งไม่ฟ้องธนาธร แน่นอนว่า คงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่ใช่น้อย กับการใช้ดุลยพินิจของอัยการ เพราะในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน 2560 มาตรา 211 วรรคท้ายบัญญัติว่า
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ"
หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร สิ่งที่ตามมา ก็คือ ข้อถกเถียงที่ว่า การให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังกล่าว ที่ให้รวมถึง หน่วยงานของรัฐ สำนักงานอัยการสูงสุด ก็คือหน่วยงานของรัฐด้วย
แต่ อัยการ สามารถจะมีความเห็นทางคดีที่แตกต่างไปจากศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หากเป็นเรื่องของ การทำความเห็นทางคดีอาญา ประเด็นนี้คงทำให้ เกิดข้อถกเถียงในมุมข้อกฎหมายอาญาและกฎหมายมหาชน ตามมาแน่นอน
ขณะที่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องคดีดังกล่าว พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีการไต่สวนโดยเรียกธนาธรและคนในครอบครัวเช่น นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา นายธนาธร -รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภริยาของธนาธร มาเบิกความไต่สวนกลางห้องพิจารณาคดีพร้อมกันในวันเดียว
รวมถึงมีการไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ไทม์ไลน์ การโอนหุ้นบริษัทวีลัค มีเดีย ระหว่าง ธนาธรกับคนในครอบครัวหรือ ข้อมูลการเสียภาษีและการแจ้งยกเลิกกิจการของบริษัทวีลัคมีเดีย ก่อนธนาธร จะยื่นสมัครลงเลือกตั้ง จนศาลเห็นว่า การโอนหุ้นดังกล่าวของ ธนาธร มีข้อพิรุธหลายจุด จนเป็นที่มาของคำตัดสินที่ทำให้ ธนาธร หลุดจากส.ส. มาแล้ว
ดังนั้น หากอัยการสั่งไม่ฟ้องธนาธร ขึ้นมาจริง ก็คงต้องมีพยานหลักฐาน หรือความเห็นทางข้อกฎหมาย ที่อย่างน้อยต้องชี้แจงต่อสังคมได้ ไม่เช่นนั้น คงทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อดุลยพินิจของอัยการ ตามมาแน่นอน
ส่วนแนวทางที่สอง ก็คือ อัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้อง ธนาธร ว่าทำผิดตามพรบ.การเลือกตั้งส.ส. ตามมติกกต.และความเห็นของตำรวจ แล้วก็ส่งสำนวนยื่นฟ้องเอาผิดธนาธร เป็นจำเลยต่อศาล ไปตามขั้นตอน เพื่อให้ ธนาธร ไปพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ซึ่ง อัตราโทษตามมาตรา 151 ที่กกต.เอาผิด ธนาธร คือ จำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งผู้นั้น 20 ปี
และแนวทางที่สาม ก็คือ อาจเป็นไปได้ที่ อัยการอาจขอเลื่อนการสั่งคดี ธนาธร ออกไปอีก คือยังไม่มีความเห็นใดๆ ในวันพฤหัสบดีนี้ ยิ่งเมื่อมีกระแสข่าวความเห็นการสั่งคดีหลุดออกมาก่อนแบบนี้ อาจทำให้ อัยการที่เกี่ยวข้อง อาจขอตั้งหลัก ก่อนก็ได้
หากสุดท้าย ธนาธร รอดพ้นคดีอาญาในคดีถือหุ้นสื่อ ก็คงโล่งใจไปได้ยกใหญ่ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะเปิดช่องให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นแย้งอัยการได้ก็ตาม แต่ก็น่าจะทำให้ น้ำหนักการสู้คดี ของธนาธรและทนายความมีความหวังมากขึ้น หากชั้นต้นอัยการเจ้าของสำนวน มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตามกระแสข่าวจริง
เพราะทุกวันนี้ ยังมีอีกหลายคดี ที่ ธนาธร ต้องตั้งหลักสู้ ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญากรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ 191 ล้านบาท ที่กกต.ก็มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับธนาธรและอดีตกรรมการบริหารพรรค
หรือคดีที่ถูกแจ้งความว่าทำผิดมาตรา 112 และพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณี ไลฟ์สดเรื่องวัคซีนพระราชทาน รวมถึงคดีที่ถูกกรมป่าไม้ ร้องทุกข์กล่าวโทษพร้อมกับคนในครอบครัวในเรื่องที่ดินที่ราชบุรี 2,154 ไร่
ดูแล้ว เส้นทางชีวิต ธนาธร ต่อจากนี้ต้องใช้ชีวิตวนเวียน อยู่กับ ตำรวจ -อัยการ หรือแม้แต่ศาลยุติธรรม ไปอีกหลายปี