MGR Online - อธิบดีกรมพินิจฯ ออกมาตรการปฏิบัติ 5 ข้อ คุมเข้มโควิดระลอก 3 ให้ จนท.บันทึกไทม์ไลน์ขณะเข้าออกสถานที่ควบคุม ห้ามบุคคลภายนอกเข้าทุกกรณี
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกระจายไปทุกจังหวัด กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงได้ประกาศให้บุคลากรปฏิบัติงานภายในบ้าน (Work from home) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนนั้น
วันนี้ (20 เม.ย.) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความห่วงใยถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอก 3 จึงสั่งกำชับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกรมพินิจฯ ให้ปฏิบัติตาม 5 ข้อ ดังนี้ 1. ให้เจ้าหน้าที่งดออกนอกพื้นที่หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงทุกกรณี ยกเว้นมีความจำเป็นเร่งด่วน 2. ให้หน่วยงานจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามความเหมาะสม และแจ้งผลการดำเนินงานมายังกรมฯ 3. บุคคลภายนอก งดเว้นการเข้าทำกิจกรรมในศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทุกกรณี รวมถึงการจัดส่งอาหารสด หรือห้ามมิให้บุคคลภายนอก หรือผู้ทำหน้าที่ฝึกสอนเด็กและเยาวชนเข้ามาภายในเขตควบคุมด้วย 4. เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ที่ไม่มีภาระหน้าที่ภายในสถานควบคุม ให้งดเข้าสถานควบคุมทุกกรณี และ 5. เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในสถานที่ควบคุมต้องทำรายงานไทม์ไลน์ประจำวัน เป็นรายชั่วโมงตามแบบรายงานที่กรมฯกำหนด หากเจ้าหน้าที่จงใจปกปิดไทม์ไลน์ของตนเองจะใช้มาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาด
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เผยอีกว่า ได้เน้นย้ำให้หัวหน้าหน่วยงานทุกคนทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาในรายละเอียด สร้างการรับรู้ในการระวังป้องกันอย่างสูงสุด โดยเฉพาะสิ่งใดที่ห้ามและเกิดความเสี่ยงให้งดเว้น และให้ผู้อำนวยการมีอำนาจในการบริหารจัดการบุคลากรอย่างเต็มที่ หากต้องมีการกักตัวเจ้าหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังโรค หรือดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืน และให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ พิจารณาใช้อำนาจในทางคดี เช่น การเสนอใช้มาตรการหันเหคดี มาตรา 132 วรรคหนึ่งและสองอย่างเต็มที่ เพื่อลดความแออัดของสถานควบคุม และลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งมาตรการเข้มงวดนี้มีกำหนด 30 วัน ตั้งแต่ 16 เม.ย.-15 พ.ค. 64
“ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกรมฯ ปฏิบัติตนเสมือนว่าทุกพื้นที่เป็นพื้นที่สีแดง ยกระดับการระวังภัยขั้นสูงสุด และปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขของแต่ละจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากพบเจ้าหน้าที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือมีคนใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ติดเชื้อให้แจ้งผู้อำนวยการและกักตัวสังเกตอาการทันที โดยให้ผู้อำนวยการหน่วยงานในสังกัดแต่ละแห่ง พิจารณาเตรียมพื้นที่เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนาม” อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าว