xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบรีเด็ม 18 คน คดีชุมนุมป่วนเมือง หน้ากรมทหารราบที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจหลักฐาน 5 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ผู้ชุมนุมม็อบรีเด็ม 18 คน คดีชุมนุมป่วนเมือง หน้ากรมทหารราบที่ 1 ให้การปฏิเสธสู้คดี “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ- มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน-ขัดขวางเจ้าพนักงาน” ศาลนัดตรวจหลักฐาน 5 ก.ค.นี้ ส่วนจำเลยที่ 10 ไม่มาศาล โดนออกหมายจับ

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 19 เม.ย. ศาลนัดสอบคำให้การ คดีหมายเลขดำ อ.884/2564 ที่ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้องผู้ชุมนุมรีเด็ม (REDEM) แนวร่วมคณะราษฎร จำนวน 19 คน ประกอบด้วย นายพรชัย มายอด, นายสงกรานต์ ดาราดาษ, นายพัชรพล เมืองโคตร, นายบัญชา จันทร์สมบูรณ์ ผู้สื่อข่าวสำนักงานพิมพ์แนวหน้า, นายฐาปนพงศ์ พเนตรรัมย์, นายซูเฟียน ยามา, นายบุญทัย พิกุลทอง, นายพัชรพล เอี่ยมวัฒนพงศ์, นายกำพล วัฒยา, นายพรชัย โลหิตดี, นายธนพัฒน์ กาเพ็ง, นายพชร วัฒนศิริสุข, นายธนพล พันธุ์งาม, นายพีรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ กีรติกานต์, นายขวัญน้อง ท่าหาด, นายทักษิณ อัปมาโน, นายวีรชาติ เกตุแก้ว, นายอรรถพล เรืองรัมย์, นายแซม สาแมท (ถูกขังในเรือนจำ) เป็นจำเลยที่ 1-19 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกกระทำความผิด แล้วไม่เลิก, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ, ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138, 140, 295, 296, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ในส่วนของนายแซม สาแมท จำเลยที่ 19 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเพิ่มเติ่มอีกด้วย

คำฟ้องบรรยายระบุพฤติการณ์ว่า สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของนายกรัฐมนตรี เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 พร้อมกับการใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนด ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมในลักษณะแพร่เชื้อโรค เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานที่ได้รับอนุญาตและเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม และจัดในสถานที่ที่ไม่แออัด มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชนและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งหมดได้ทราบประกาศดังกล่าว

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 เวลากลางวันถึงกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน มีผู้ชุมนุมประมาณ 600-700 คน นัดหมายมาร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินขบวนไปขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ออกจากบ้านพักที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตด้านขาออก

จำเลยทั้ง 19 พร้อมกับเยาวชนอีก 4 ราย ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด

โดยจําเลยกับพวกไม่ได้จํากัดทางเข้า-ออกในการเข้าร่วมชุมนุม และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย อันเป็นการจัดชุมนุมทางการเมืองโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

จําเลยทั้งหมดยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กล่าวคือ ขณะจำเลยกับพวกเคลื่อนขบวนไปทางกรมทหารราบที่ 1 ได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชนขัดขวางไม่ให้เคลื่อนขบวน จําเลยทั้งหมดจึงได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและใช้กําลังประทุษร้ายด้วยการด่าทอ ตําหนิ และขว้างปาประทัดยักษ์ ก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชน อันเป็นการกระทําให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ยุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานแล้ว ก็ยังคงขัดขืนไม่เลิกการกระทำดังกล่าว

นอกจากนี้ จําเลยยังได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติตามหน้าที่ กล่าว คือ เมื่อจําเลยทั้งสิบเก้ากับพวกผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชนที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุม จําเลยทั้งหมดได้ใช้กําลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยการขว้างปาก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่คุมฝูงชนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย อันเป็นการร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่

คำฟ้องยังระบุพฤติการณ์เพิ่มด้วยว่า นายแซม สาแมท (จำเลยที่ 19) ซึ่งเป็นบุคคลเชื้อชาติกัมพูชา ไม่ปรากฏสัญชาติ ได้เดินทางจากประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา เข้ามาในราชอาณาจักรไทยที่ชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จากนั้นเดินทางต่อมาที่ เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่, ไม่ได้ผ่านการตรวจอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองประจําเส้นทางนั้นตามกฎหมาย, ไม่ได้ยื่นรายการตามแบบที่กําหนดในกฎกระทรวง ตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง และไม่ได้ไปรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทําการด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ใกล้ที่สุดในทางที่เข้ามา ขณะเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งพักอยู่ที่ห้องเช่าในเขตดอนเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กทม.เกี่ยวพันกัน

โดยในวันนี้ นายพรชัย มายอด จำเลยที่ 1 กับพวก 18 คน  มาสอบคำให้การ ขาดเพียง นายพรชัย โลหิตดี จำเลยที่ 10 ไม่มาศาล

ซึ่งศาลสอบคำให้การและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 18 คนฟัง จนเข้าใจแล้วสอบถามว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่า จำเลยทั้ง 18 คน ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ส่วน นายพรชัย จำเลยที่ 10 นั้น ศาลเห็นว่า มีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับ ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวจำเลยนั้น ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยตีราคาประกันคนละ 35,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น