xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีศาลคดีทุจริตฯ ภาค 1 ยื่นฟ้อง “สุภา ปิยะจิตติ” ฐานดูหมิ่น กล่าวหาแทรกแซงคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายเจษฎา คงรอด ทนายความนายปรเมษฐ์  และนายสิระ เจนจาคะ
อธิบดีฯ ศาลคดีทุจริตภาค 1 ส่งทนายฟ้อง “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องขอโอนสำนวนคดีมีเนื้อหาหมิ่นศาล กล่าวหาโจทก์เเทรกเเซงคดี ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 19 ก.ค.นี้ 13.30 น. ด้าน “สิระ” ขอแจมจะนำเรื่องเข้าสู่ กมธ.กฎหมาย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ศาลจังหวัดสระบุรี นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้มอบอำนาจให้นายเจษฎา คงรอด ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ในความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี

โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ในขณะเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีอำนาจหน้าที่ในการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีหรือทำความเห็นแย้งในคดี รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา จัดวางระเบียบและการดำเนินการส่วนธุรการของศาล และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี

ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจำเลยยังอยู่ในฐานะจำเลยที่ 2 คดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.84/2563 ที่นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาฯ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ปธ.ป.ป.ช.,น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กก.ป.ป.ช., นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-3

นอกจากนี้จำเลยยังอยู่ในฐานะจำเลยในคดีของศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.64/2563 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา โจทก์ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ จำเลย

 น.ส.สุภา ปิยะจิตติ (แฟ้มภาพ)
วันที่ 23 มี.ค. 2564 จำเลยจัดทำและยื่นคำร้องขอโอนสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในคดีหมายเลขดำที่ อท.84/2563 นายประหยัด พวงจำปา ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกทั้ง 3 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 โดยมีข้อความอันเป็นการดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยามโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความอับอาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการลดคุณค่าและทำลายการใช้ความเด็ดขาด ในการรักษาความยุติธรรมของศาล และทำลายชื่อเสียงของศาล หรือผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการพิจารณา

โดยดูหมิ่นโจทก์ว่าโจทก์แทรกแซงการพิจารณาคดี และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นการปฏิบัติตามปกติในกระบวนพิจารณา หากให้มีการพิจารณาคดีต่อไปในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 นั้น จำเลยอาจไม่รับความยุติธรรม

โจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในการพิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท.85/2563 นั้นมีประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีอื่นๆ มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 3 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบภาค 1 และเคยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมให้เป็นอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม จึงตระหนักดีว่าการทำหน้าที่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมนั้นต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งผู้พิพากษาและผู้บริหารในศาลต่างๆ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน ตลอดจนผู้พิพากษา และข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ใต้บังคับบัญชาในศาลด้วยความเมตตาเอื้อเฟื้อ เพื่อให้การบริหารคดี และการบริหารงานต่างๆ ในศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี หมายเลขดำที่ อท.84/2563 ดังกล่าวเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ เพื่อประสาทความยุติธรรมให้กับคู่ความทุกฝ่ายในคดีรวมทั้งจำเลยด้วย ซึ่งโจทก์ต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากการก้าวก่ายหรือแทรกแซงโดยบุคคล หรือองค์กรใด รวมทั้งผู้บริหารในศาลยุติธรรมด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นแล้วผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีจะเกิดความหวั่นไหวจากการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีอันจะเกิดผลกระทบต่อความยุติธรรม และประชาชนทั่วไป รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดรวมทั้งจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกฎหมายต่อไปได้ โดยคู่ความและประชาชนต้องให้ความเคารพศรัทธาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างแท้จริง

การกระทำของจำเลยในการยื่นคำร้องขอโอนคดีโดยระบุข้อความต่างๆ ดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นการดูหมิ่นโจทก์และหรือศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี และเป็นการใส่ความด้วย ข้อความอันเป็นเท็จว่ามีการแทรกแซงการพิจารณาคดีโดยโจทก์และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นการปฏิบัติตามปกติในกระบวนพิจารณา หากให้มีการพิจารณาคดีต่อไปในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 จำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมนั้นเป็นการทำลายความเชื่อถือ และความเด็ดขาดในการใช้อำนาจรัฐในการรักษาความยุติธรรรมของศาล รวมทั้งเป็นการลดคุณค่าและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี ทั้งที่ความจริงโจทก์ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และกระทำการไปเพื่อประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณี โดยยึดมั่นในความเป็นอิสระของผู้พิพากษาแต่ละท่าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีและเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่

โดยการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี

ภายหลังยื่นฟ้อง นายเจษฎา คงรอด ทนายความนายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ศาลจังหวัดสระบุรีรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น. โดยในวันนั้น นายปรเมษฐ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีทุจริตฯ ภาค 1 ในฐานะโจทก์จะเดินทางมาเบิกความต่อศาลด้วยตนเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นคำร้องขอโอนคดีของฝ่ายจำเลยมีผลทำให้อธิบดีผู้พิพากษาฯ ต้องถูกย้ายไปช่วยราชการ และตั้งคณะกรรมการสอบใช่หรือไม่ นายเจษฎา ทนายความ กล่าวว่า เรื่องการสอบวินัยเรายังไม่ทราบว่ามีการร้องเรียนในข้อเท็จจริงเรื่องอะไร ทราบแต่เพียงว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และทราบอย่างไม่เป็นทางการว่ามีการสรุปข้อเท็จจริงไปแล้ว และมีคำสั่งย้ายนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ไปอยู่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งที่ท่านยังไม่เคยได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการชุดนี้ เรายังไม่ทราบว่าเนื้อหาในการร้องเรื่องวินัยเป็นอย่างไร จะเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ แต่เราประเมินว่าน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน

ด้าน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พอทราบข่าวจึงเดินทางมารับเรื่องเพื่อให้เข้าสู่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาศึกษาหาข้อเท็จจริงว่า การร้องเรียนของ น.ส.สุภา กระทำในฐานะอะไรและมีอำนาจหน้าที่ให้เปลี่ยนคณะสอบสวน หรือร้องขอให้สอบท่านอธิบดีฯ เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ท่านอธิบดีฯ ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

ทั้งนี้ จะเชิญคณะกรรมการสอบเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมาธิการฯ เชิญท่านสุภา และเชิญอธิบดีฯ เรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะสูงกว่าอธิบดีฯ ก็ขอให้เป็นมติของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งก็จะต้องเชิญทั้งหมดทั้งคนร้อง ผู้ตั้งเรื่องให้สอบและคณะกรรมการสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้เป็นคดีแรกที่ผู้พิพากษาระดับอธิบดียื่นฟ้อง ป.ป.ช. โดยก่อนหน้านี้ น.ส.สุภา จำเลยในคดียื่นคำร้องขอโอนคดีในวันที่ 23 มี.ค. 2564 หลังจากนั้นสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งลับที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีอธิบดีถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ความคดีหมายเลขดำ ที่ อท.84/2563 โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมีความเห็นว่าอธิบดีมีพฤติการณ์เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการในวันที่ 5 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์ในคดีมีพยานสำคัญซึ่งเป็นพยานหมายมาเบิกความ คือ ศาสตราจารย์ วิชา มหาคุณ และศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง ซึ่งในวันดังกล่าวพยานทั้ง 2 ท่านได้เดินทางไปศาลพร้อมเบิกความแล้ว เเต่จำเลยกับพวกได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเพื่อให้ศาลส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในเรื่องอำนาจการพิจารณาคดีของศาล ก่อนหน้านี้นับแต่วันฟ้องคดีจนถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนจำเลยไม่เคยโต้แย้งในประเด็นเขตอำนาจศาลเลย แต่มาโต้แย้งในวันไต่สวนมูลฟ้อง ทำให้ศาลต้องเลื่อนการพิจารณาคดี โดยบ่ายวันดังกล่าวประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1

สำหรับ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ มีคดีถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ไม่ต่ำกว่า 10 คดี
กำลังโหลดความคิดเห็น