xs
xsm
sm
md
lg

ศาลให้เลื่อนนัดพิจารณาคดี ช่วง16-30 เม.ย.นี้ออกไปก่อน เหตุโควิด-19 ระบาดหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม
โฆษกศาลยุติธรรมเผย ช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ คณะอนุกรรมการติดตามแก้ไขฯให้เลื่อนนัดพิจารณาคดีตั้งแต่ 16-30 เม.ย.2564 เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรศาล คู่ความ และประชาชนที่มาติดต่อราชการ

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีแนวปฏิบัติการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ฉบับที่ 7 วันที่ 9 เม.ย.2564 แต่เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้มีอรรถคดีในการเดินทางไปติดต่อราชการศาล รวมถึงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลในทุกพื้นที่

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรของศาลยุติธรรมและผู้มาติดต่อราชการศาล คณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จึงเห็นสมควรกำหนดให้มีแนวปฏิบัติเพิ่มเติมในด้านการบริหารจัดการคดีดังนี้

- ให้ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีจัดการพิเศษคดีสามัญและคดีสามัญพิเศษทุกคดีที่นัดพิจารณาระหว่างวันที่ 16-30 เม.ย.2564 โดยยังไม่ต้องกำหนดวันนัดใหม่และแจ้งให้คู่ความและพยานที่ศาลมีหมายเรียกเพื่อทราบถึงการเลื่อนคดีดังกล่าวทางโทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด รวมทั้งการพิจารณาให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดสำหรับคดีทุกประเภทที่ผู้รับหมายมีภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (สีแดง) เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นก็ให้ดำเนินการส่งโดยวิธีการไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้หน่วยงานกรอกแบบฟอร์มแสดงจำนวนคดีที่เลื่อนไปตามวรรคหนึ่ง โดยวิธีสแกน QR Code ที่แนบท้าย

- คดีจัดการพิเศษที่สามารถดำเนินการ ได้แก่ คดีอาญา เช่นนัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยต้องขัง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนคดี จำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกระบวนพิจารณาและความพร้อมของระบบการประชุมทางจอภาพระหว่างศาลกับเรือนจำ ในการนี้ต้องให้ผู้ถูกคุมขังเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริงและให้โอกาสในการโต้แย้งคัดค้านได้อย่างเต็มที่ตามข้อ 7 แห่งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563

- คดีแพ่ง เช่น คดีร้องขอจัดการมรดก คดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นคนสาบสูญ คดีร้องขอเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์หรือขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ ศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้หากไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้องและหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของผู้ร้องด้วย และคดีอื่น ๆ ที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความเช่นคดีที่คู่ความขอส่งเอกสารเพิ่มเติม เนื่องจากไม่มีความพร้อมเรื่องเอกสารจากนัดที่แล้วหรือคดีที่เหลือการสืบพยานเพียง 1 ปากหรือเหลือพยานอีกจำนวนไม่มาก เป็นต้น

คดีจัดการพิเศษที่รับฟ้องใหม่ควรกำหนดนัดพิจารณาในช่วงตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ก.ค. 2564 เป็นต้นไป แล้วแต่ปริมาณคดีของศาลและควรกำหนดกรอบจำนวนคดีที่นัดให้น้อยกว่าปกติ เพื่อรองรับคดีจัดการพิเศษที่อาจมีการเลื่อนคดีมาอีก โดยให้ดำเนินการส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้คู่ความอีกฝ่ายโดยวิธีการไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก่อน

คดีสามัญ และคดีสามัญพิเศษ ที่สามารถดำเนินการ ได้แก่ คดีอาญาที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาคดีหรือคดีอื่น ๆ ที่คู่ความพร้อม และต้องการจะสืบพยานหรือคดีที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ เช่น คดีที่ศาลได้ดำเนินการสืบพยานหลักไปแล้ว คงเหลือการสืบพยานอื่นเพียง 1 ปากหรือเหลือพยานอีกไม่มากเป็นต้น แต่หากการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าว เจ้าของสำนวนและองค์คณะเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินไปได้ โดยปลอดภัยแก่ทุกฝ่ายก็อาจใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีไปก่อนแต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณี

ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่มีคดีนัดพิจารณาระหว่างวันที่ 16 - 30 เม.ย.2564 อาจเลื่อนคดีได้ตามความเหมาะสม

กรณีมีคู่ความยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 10 เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาล ที่อยู่ในหรือนอกเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (สีแดง) แล้วแต่กรณี ให้ศาลที่ได้รับคำขอนั้น พึงพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ในการทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

กรณีอื่น ๆ ให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีฯ ฉบับที่ 6 ในเดือน เม.ย. และฉบับที่ 7 วันที่ 9 เม.ย. 2564

ส่วนปัญหาที่อาจทำให้คดีบางประเภทต้องหยุดชะงักเกิดผลกระทบต่อคู่ความนั้น

ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือด่วนที่สุด 016/26391 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เเจ้งหน่วยงานในสังกัด เนื่องจากเกิดสถานการณ์เเพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ขึ้น สมควรนำวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณา สำหรับการไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่ความและเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรของศาลยุติธรรม คู่ความ และผู้มาติดต่อราชการศาล

ในส่วนของศาลแพ่งก็เตรียมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งการระบาดสองระลอกที่ผ่านมา ทำให้คดีเป็นจำนวนมากต้องเลื่อนพิจารณาออกไป ก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจเสียหาย เช่น คดีจัดการมรดกก็เช่นกัน หากต้องเลื่อนคดีออกไปอีกย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าให้คู่ความต้องเดินทางมาไต่สวนที่ศาลก็อาจเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งบุคลากรของศาลและตัวคู่ความเอง ดังนั้น เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้สามารถไต่สวนจัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ศาลแพ่งจึงเร่งจัดทำ”โครงการคลินิกจัดการมรดกออนไลน์VS COVID-19 “ โดยวิธีการไต่สวนระหว่างศาลกับผู้ร้องและพยานผ่านระบบzoom หรือLine หรือMicrosoft team ทั้งนี้เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องเดินทางมาศาลในช่วงนี้ โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

ส่วนศาลอื่นๆ นั้น ประชาชนหรือคู่ความสามารถสอบถามหรือติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร
กำลังโหลดความคิดเห็น