MGR Online - ผบช.น.เผยไม่ตั้งเครื่องกีดขวางถ้าไม่จำเป็น ขอกลุ่มผู้ชุมนุมอย่าใช้ความรุนแรงและปิดถนน ยันตำรวจดูแลความสงบได้ ไม่กระทบการสอบ รอง ผบช.น.เตือนเอาผิดหนังสือมีเนื้อหาผิดกฎหมาย
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. และ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.(จต.) ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงการรับมือกรณีกลุ่ม “รีเด็ม” ประกาศชุมนุมในวันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.) เวลา 18.00-21.00 น. ที่สนามหลวง ว่า ได้จัดวางกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไว้ทั้งหมด 22 กองร้อย โดยประเมินจากสถานการณ์การข่าวถ้าไม่มีความรุนแรง ไม่กระทบกับสถานที่สำคัญ และไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน ตำรวจพยายามจะไม่ตั้งเครื่องกีดขวางใดๆ
ขณะนี้ยังไม่พบสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดความรุนแรง ตนเชื่อว่า จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม พรุ่งนี้การข่าวอาจจะพบความรุนแรงก็ได้ ย้ำว่า สนามหลวงอยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะอนุญาตให้ชุมนุมหรือไม่ กทม.จะเป็นผู้พิจารณา ประกอบกับช่วงนี้มีประกาศห้ามชุมนุม หากยืนยันจะชุมนุมก็ขออย่าใช้ความรุนแรง และอย่าปิดเส้นทางการจราจร เนื่องจากพรุ่งนี้จะมีการสอบ อาจกระทบกับผู้เข้าสอบได้ ตำรวจนครบาลพยายามดูแลความสงบให้เกิดความวุ่นวายและกระทบน้อยที่สุด
“การตั้งเครื่องกีดขวางมีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อป้องกันสถานที่สำคัญ 2. ป้องกันไม่ให้ตำรวจกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุม เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง ตำรวจพยายามให้เกิดความสะดวกที่สุดสำหรับนักเรียนผู้เข้าสอบทุกคน ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ตั้งเครื่องกีดขวางบนเส้นทางการจราจร ผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม จริงแล้วการชุมนุมก็ผิด ถ้าทำอย่างอื่นผิดก็ว่ากันไป ยืนยันตำรวจสามารถดูแลความสงบเรียยร้อยได้” น.1 กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า บช.น.เตือนว่า การชุมนุมช่วงนี้ในกรุงเทพฯ จะมีความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (มาตรการควบคุมโรค) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง นอกจากนี้ ถ้ามีการแจกจ่าย หนังสือ เอกสาร หรือสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ทั้งผู้พิมพ์ ผู้ผลิต และผู้ดำเนินการแจกจ่าย ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งด้วย