“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564 ตอน ฉวยจังหวะ ล้มแก้ รธน.
จังหวะสะดุดของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เป็นผลทำให้ โรดแมฟ แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พังทลายไป
เส้นทางต่อจากนี้ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่บนความไม่แน่นอน เริ่มที่กลางสัปดาห์นี้ กับการประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ 17-18 มีนาคม สมาชิกรัฐสภาทั้งส.ส.และสว. ต้องลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนญมาตรา 256 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายตามกระบวนการรัฐสภา
โดยก่อนหน้านี้ มีการยื้อ-ยุดกันทั้งในสภาฯและนอกรัฐสภา ระหว่าง พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สว.-ม็อบสามนิ้ว กันมาร่วมเกือบ 5-6 เดือน มาถึงพุธที่17 มีนาคมนี้ เป็นวันถึงจุดไคลแมกซ์ ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร
การพิจารณาญัตติร้อนนี้ จะเริ่มที่ เมื่อชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุม จากนั้น คาดว่าสมาชิกรัฐสภา จะเปิดฉาก อภิปรายกันอย่างดุเดือดเข้มข้น ยกเหตุผลมายันกัน ทั้งส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านและสว.
คาดว่า จุดยืนฝ่ายค้านจะเรียกร้องให้ที่ประชุม เดินหน้าโหวตวาระสาม ต่อไป เพื่อที่หากร่างฯผ่านวาระสาม ก็ส่งไปทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่ฝ่ายค้านเข้าใจและถือว่าทำตามคำวินิจฉัยของศาล เพราะมีการทำประชามติ ตามที่ศาลบอกไว้
ขณะที่ ส.ส.รัฐบาลโดยเฉพาะค่ายพลังประชารัฐและสว.อีกจำนวนหนึ่ง จะลุกขึ้น คัดค้านไม่ให้โหวตวาระสาม คาดว่าอาจมีการขู่กันกลางที่ประชุมว่า หากใครโหวตวาระสาม จะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในที่สุด สภาต้องหาทางออก ที่จะวัดกันที่สองทางเลือก ทางแรกคือ ที่ประชุมต้องลงมติตัดสินใจกันว่า จะโหวตวาระสามหรือไม่ หรือจะไม่โหวต
ถ้าปล่อยร่างแก้ไขรธน.ให้ค้างไว้ในระเบียบวาระไปเรื่อยๆ ซึ่งก็สามารถทำได้ ไม่มีผลทำให้ร่างฯตกไป ซึ่งหากที่ประชุม โหวตไม่ให้พิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม แช่แข็งไว้ เรื่องก็จบ
แต่หากลงมติกันแล้ว ถ้าเสียงส่วนใหญ่ ลงมติเห็นควรให้โหวต วาระสาม ก็จะไปสู่ทางที่สอง คือ การโหวตว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงข้างมากตัดสิน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ
ต้องมีส. ว.ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง จึงจะถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเสียง ส. ว.ไม่ถึงทำให้ร่างตกไปทันที
ดังนั้น ตัวแปรชี้ขาดมติ วันพุธนี้ว่าจะออกมาแบบไหน จึงอยู่ที่ ส. ว. และส.ส.พลังประชารัฐ เป็นหลัก เพราะหากสองปีกนี้ จับมือกันแน่น และได้เสียง จากพรรคเล็กๆ มารวมด้วยอีกจำนวนหนึ่ง เสียงโหวตก็เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา จนสามารถกำหนดทิศทางต่างๆ ในการลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้เดินไปทางไหนได้
ตอนนี้ พบว่า ท่าทีของส. ว. หลายคน รวมถึงส.ส. พรรคพลังประชารัฐบางส่วน ทำท่าจะเกาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มกระดาน หรือดึงเกมยื้อ ไม่ยอมให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันง่ายๆ โดยยกเหตุเรื่อง ความไม่ชัดเจนของ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ว่าต้องทำประชามติตอนไหน หากลงมติไปอาจเสี่ยงโดนยื่นเรื่องถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงเสนอให้รอคำวินิจฉัยกลางออกมาก่อน แล้วค่อยนัดประชุมโหวตวาระสามกันอีกรอบ หรือไม่ก็อ้างเหตุ หากจะแก้ 256 ร่างรธน.ฉบับใหม่จริงๆ ก็ให้ย้อนไปทำประชามติก่อน แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ ทิ้งร่างฯ ค้างไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ
หรือไม่ อีกทางหนึ่ง แบบเอากันให้สุดไปเลย ก็คือ ฝ่ายส. ว.และพลังประชารัฐ จะเดิมเกมยอมให้มีการโหวตวาระสาม แต่ในขั้นตอนการโหวต ส. ว. และส.ส.พลังประชารัฐ รวมถึงอาจมีส.ส.รัฐบาลอีกจำนวนหนึ่ง รวมหัวกัน ใช้วิธี งดออกเสียงตอนลงมติ หรือไม่ก็เดินออกจากห้องประชุม ไม่เข้าประชุม
เพราะเมื่อไม่ออกเสียง แม้ต่อให้ผลออกมาอย่างไร ก็ไม่โดนเอาผิด เพราะไม่ได้โหวตด้วย และหากเดินไปในทรงนี้ โดยเฉพาะหากส. ว.ใช้วิธีงดออกเสียง จนเสียงส. ว.เห็นชอบไม่ถึง 84 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถูกล้มกระดานกลางห้องประชุม
แท็กติก ที่จะเกิดขึ้นวันพุธนี้ที่ ส.ส.รัฐบาลและสว.ที่ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ โหวตวาระสาม จึงจะมีทั้งการไม่มาร่วมประชุม ตลอดทั้งวัน
หรือมาเซ็นชื่อแต่ไม่อยู่ในห้องประชุม ไม่กดบัตรแสดงตัว รวมถึงการมาประชุม กดบัตรแสดงตัว แต่ตอนลงมติใช้วิธี งดออกเสียง
ทั้งหมดคือสัญญาณบ่งชี้ ประชุมรัฐสภา พุธนี้ ร้อนระอุแน่