MGR Online - ผบช.ภ.4 ลุยแก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากการเสพยา วางแนวทางระงับเหตุตามนโยบาย ผบ.ตร.ร่วมมือระดับจังหวัด อำเภอ สาธารณสุข ประเมินกลุ่มเสี่ยง จัดทีมผู้พิทักษ์ 1 ออกพบปะเยี่ยมเยียน
วันนี้ (6 มี.ค.) เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 เป็นประธานเปิด “โครงการนาคาพิทักษ์รักษ์ประชา”ตามนโยบาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.และ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร.ในการป้องกันเหตุอาชญากรรมอันเกิดจากผู้ป่วยจิตเวช ที่มีสาเหตุจากการใช้สารเสพติด โดยตำรวจภูธรภาค 4 ภายใต้การนำ พล.ต.ท.ยรรยง พล.ต.ต.วรัตม์ชัย ศรีรัตนวุฑฒิ รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.สุภากร คำสิงห์นอก รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.สหภูมิ สง่าเมือง รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.อรรคพงศ์ พิมลศิริรอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม ผบก.สส.ภ.4 ตามแนวคิดในการบริหารจัดการแบบบูรณาการ กรณีผู้มีอาการทางจิตก่อเหตุของตำรวจภูธรภาค 4 โดยมีข้าราชการตำรวจภูธรภาค 4 ทั้ง 12 จังหวัด เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พล.ต.ท.ยรรยงกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่มีแนวโน้มรุนแรง และมีผู้หลงผิดติดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่มีอาการป่วยจากการใช้ยาเสพติดมาเป็นเวลานาน หรือจำนวนที่มาก ทำให้เกิดประสาทหลอนถึงขั้นกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช หลอน ทำร้ายร่างกายคนใกล้ชิดและคนทั่วไป จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการแบบบูรณาการ กรณีผู้มีอาการทางจิตก่อเหตุของตำรวจภูธรภาค4 ในชื่อโครงการนาคาพิทักษ์รักษ์ประชา มีการจัดเก็บข้อมูลสถานภาพจำนวนผู้ป่วยจิตเวช สำหรับประเมินความเสี่ยงต่อการก่อเหตุ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาการก่อเหตุ รวมทั้งบูรณาการ การปฏิบัติกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายท้องถิ่นเมื่อเกิดเหตุ ผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรง ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีทักษะ และแนวทางการปฏิบัติสามารถระงับเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัย
ขั้นตอนการปฏิบัตินั้นเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ระดับ บช.ภ.4 ภ.จว.และสถานีตำรวจ ที่เริ่มจากการวางแผนโครงการ รูปแบบการปฏิบัติ ส่วนในระดับตำรวจภูธรจังหวัด ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แสวงหาความร่วมมือเพื่อบรรจุในแผนการพัฒนาท้องถิ่น และในระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ ร่วมหารือแนวทางกับนายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ทำการแบ่งมอบหน้าที่แสวงหาความร่วมมือ ประเมินกลุ่มเสี่ยงผู้มีอาการทางจิตซึ่งต้องแบ่งระดับการเฝ้าระวัง เป็น 3 ระดับ แยกเป็น เฝ้าระวังสูงสุด เฝ้าระวังสูง และเฝ้าระวัง รวมถึงจัดทีมผู้พิทักษ์ 1 ผู้ป่วยจิตเวช ออกพบปะเยี่ยมเยียน และที่สำคัญคือทุกพื้นที่จะต้องจัดทำ ทำบันทึกความเข้าใจ ระหว่างครอบครัว ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชกับคณะ สร้างระบบการเฝ้าตรวจ ติดตามสถานภาพผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ป้องกันเพื่อไม่ให้ไปก่อเหตุการณ์ความรุนแรง อันจะทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจัดโครงการนาคาพิทักษ์รักษ์ประชา จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น