MGR Online - กลุ่มตัวแทน “องค์กรด้านเด็ก-สตรี” รวมตัวยื่นหนังสือ ดีเอสไอ ตรวจสอบคดีเหยื่อโมเดลลิ่งเสียชีวิต ย่านพหลโยธิน เข้าข่ายค้ามนุษย์หรือไม่ เร่งหาทางออกแก้ปัญหาหยุดสูญเสีย
วันนี้ (5 มี.ค.) เวลา 13.00 น. ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และภาคีเครีอข่ายกว่า 20 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบโมลเดลลิ่งรับงานปาร์ตี้ ส่งหญิงสาวเอ็นเตอร์เทนกลุ่มลูกค้าวีไอพี จนนำมาสู่การเสียชีวิต เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากกรณีมีโมเดลลิ่งจัดส่งพนักงานเอ็นเตอร์เทนกลุ่มลูกค้าในงานปาร์ตี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และรวมถึงบริการทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ปิดเป็นการเฉพาะ ที่บ้านพักย่านพหลโยธินเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย จนนำมาซึ่งการเสียชีวิตของ น.ส.วิชญาพร วิเศษสมบัตร หรือ น้องวาวา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ชัดเจนว่ามีการทำผิดกฎหมายหลายมาตรา มีโมเดลลิ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นธุระจัดหาเป็นนายหน้า และได้รับประโยชน์จากการจัดส่งพนักงานเอนเตอร์เทน โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงและอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
“ธุรกิจจัดหาพนักงานเอ็นเตอร์เทน เป็นธุรกิจมืด มีเม็ดเงินเป็นล่ำเป็นสัน มีกลุ่มคนได้ประโยชน์อย่างชัดเจน มีนายหน้าตัดรายได้ส่วนแบ่งจากการรับงานของพนักงานเอนเตอร์เทนแต่ละรายไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และมีรูปแบบการเอนเตอร์เทนที่แบ่งระดับราคาแตกต่างกันไป เช่น เป็นเพื่อนทานข้าว เพื่อนเที่ยว ไปเต้นโชว์ ไปชงเหล้า กินเหล้าเป็นเพื่อน เสพยา มีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ส่วนสถานที่จัดปาร์ตี้ก็ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า แต่ต้องเป็นพื้นที่ปิด และเป็นที่รู้กันของคนในวงการนี้ ด้วยการเป็นธุรกิจมืด มีรายได้สูง ทำให้มีคนเข้ามาสู่วงจรอาชีพนี้จำนวนมากและนับวันยิ่งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงอันตราย และยากที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ซึ่งเต็มไปด้วยคนเมาทั้งเหล้าและยาเสพติด” นายชูวิทย์ กล่าว
ด้าน น.ส.อังคณา เผยว่า อาชีพพนักงานเอ็นเตอร์เทนพบว่า มีทั้งกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ชาย และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ช่วงอายุ 14-35 ปี หลายคนถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพื่อแลกกับเงินค่าจ้าง บางคนต้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด เพื่อเดิมพันให้ได้งินพิเศษ บางคนถูกล่วงละมิดทางเพศ ถูกข่มขืน ถูกโกงเงินค่าตอบแทน ถูกมอมเหล้าขอมยา รวมถึงยาเสียสาว ยาปลุกเซ็กซ์ เป็นต้น ซึ่งหลายคนไม่กล้าไปหาหมอ หรือแจ้งความดำเนินคดีเมื่อถูกกระทำ เพราะกลัวตัวเองจะถูกดำเนินคดีอื่นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คืออันตรายและความบอบช้ำของคนในอาชีพเอ็นเตอร์เทน สิ่งที่พูดถึงกันน้อยมากคือ ไม่ว่าจะอาชีพใด เขาต้องไม่ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสมอกัน
น.ส.อังคณา เผยอีกว่า มูลนิธิ และภาคีเครือข่ายฯ มีข้อเสนอ ต่อดีเอสไอ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ในกรณีน้องวาวา ขอให้ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกราย รวมไปถึงโมเดลลิ่งที่เป็นธุระจัดหา และขอให้ตรวจสอบว่าเหตุการณ์นี้เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ มีการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่นด้วยหรือไม่ หากเป็นการค้ามนุษย์ต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือให้ออกมาจากวงจรการค้ามนุษย์ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดทุกรายอย่างเข้มงวด 2. ขอให้ ดีเอสไอ เป็นแม่งานในการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมิได้เป็นไปเพื่อลิดรอนสิทธิในการทำงานโดยสุจริตของคนกลุ่มอาชีพนี้ และ 3. ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตาและแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นเหตุการณ์จัดปาร์ตี้ในรูปแบบที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย มียาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ และอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์
เบื้องต้น ดีเอสไอ รับเรื่องไว้ตรวจสอบพยานหลักฐานคดีของน้องวาวา ว่า เข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ พร้อมขยายผลพิจารณาความผิดอื่นๆ เพิ่มเติม และเสนอผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป