xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.ถกปัญหาปล่อยตัวนักโทษคดีสะเทือนขวัญ มอบ “คุมประพฤติ” ติดกำไล EM เฝ้าระวังร่วมกับชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “สมศักดิ์” เปิดเวทีรับฟังการกระทำผิดซ้ำในชุมชน ชี้ตั้งศูนย์ JSOC เฝ้าระวัง ติดกำไล EM คอยตามนักโทษคดีร้ายแรงหลังปล่อยตัว ป้องกันก่อเหตุซ้ำ

วันนี้ (3 มี.ค.) ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำในชุมชน” ครั้งที่ 3 โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ. นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยธ. นายสามารถ เจนชัยจิตรวาณิชย์ ผู้ช่วย รมว.ยธ. นายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัด ยธ. นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ คณะผู้บริหาร ยธ. เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า จากคดีสะเทือนขวัญต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หลายกรณีได้สร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้ที่ไปกระทำผิดในลักษณะสะเทือนขวัญดังกล่าวมักจะเป็นผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกในเรือนจำ และได้รับการปล่อยตัวเมื่อรับโทษจนครบกำหนด โดยไม่มีการเฝ้าระวังและติดตาม ตรวจสอบพฤติกรรมภายหลังพ้นโทษ และกลับไปดำรงชีวิตอยู่ในชุมชน กระทรวงยุติธรรมจึงมีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน โดยได้นำสภาพปัญหาและความต้องการไปกำหนดแผนและกลไกต่างๆ ทั้งในเรื่องของกฎหมายจะต้องปรับแก้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่กระบวนการทางกฎหมายมีความจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม จึงได้ดำเนินการควบคู่กันเป็นการเร่งด่วน คือ การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวัง (JSOC) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและติดตามผู้พ้นโทษในคดีสะเทือนขวัญ ด้วยกลไกทางสังคมและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี ผู้กระทำผิดที่พ้นโทษไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ และประกอบอาชีพที่เป็นกิจลักษณะ

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากแนวคิดที่ว่าหากชุมชนรู้ถึงอันตรายในชุมชนจะไม่มีผู้ได้รับอันตรายซึ่งปรากฏเป็นตัวอย่างที่ดีจากต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมจึงแสวงหาวิธีเพื่อกำหนดเป็นนโยบายที่จะเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมผู้กระทำผิดที่เคยก่อในคดีสะเทือนขวัญ หรือมีความเสี่ยงที่จะทำผิด ด้วยการพักการลงโทษให้ผู้กระทำผิดออกมาปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับสังคม และมีมาตรการคุมความประพฤติ รวมทั้งนำอุปกรณ์ติตตามตัว หรือกำไล EM มาใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังและติดตาม โดยนำอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล จึงนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ต้องขังที่เคยมีพฤติกรรมร้ายแรงที่ได้กลับมาดำรงชีวิตกับสังคมก่อนพ้นโทษ และเปิดโอกาสให้สังคมได้ใช้เวลาปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้ที่ได้รับการพักโทษ มีมาตรการทางกฎหมายของกรมคุมประพฤติ มาตรการทางสังคมที่เหมาะสม รองรับความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่สังคม ดังนั้น เพื่อความรอบคอบและทำให้นโยบายมีประสิทธิภาพจึงต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

“สังคมอาจตกใจว่าทำไมไม่ขังผู้กระทำผิดจนครบโทษ หากเราขังจนครบกำหนดแล้วปล่อยตัวมา สังคมจะไม่เกิดการระวังตัว อาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบที่ผ่านๆ มาได้ หากกลุ่มผู้ทำผิดนี้ได้รับการปล่อยตัวก่อนประมาณ 1-2 ปี แต่ยังอยู่ในสถานะของนักโทษเด็ดขาด โดยมีกลไกเฝ้าระวังโดยศูนย์ JSOC ติดกำไล EM และสร้างการรับรู้ให้สังคมว่ามีบุคคลอันตรายอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้สังคมช่วยกันเฝ้าระวัง น่าจะดีกว่าสังคมไม่รู้อะไรเลย การสัมมนาในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเวทีที่ผ่านมา 2 เวทีเห็นด้วย มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความเข้าใจและเกิดการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายภาคราชการและนักวิชาการ จนได้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับให้เกิดข้อสรุปที่เหมาะสมครบถ้วนรอบด้าน นำไปใช้ปฏิบัติงานได้จริง” นายสมศักดิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น