MGR Online - สถาบันนิติวิทย์ จับมือเครือข่าย ร่วมตรวจดีเอ็นเอ ประชาชนที่ตกหล่นตามทะเบียนราษฎร 3 ครอบครัว รวม 10 ชีวิต เพื่อยืนยันสถานะคนไทย จ่อลงพื้นที่ชายขอบ ทั้งชายแดนใต้-เหนือ-อีสาน
วันนี้ (20 ก.พ.) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา 3 ภาคีเครือข่าย นำพาประชาชนไร้สิทธิจาก 3 ครอบครัว รวม 10 ชีวิต ผู้กำลังประสบปัญหาไม่มีฐานะทางทะเบียนราษฎร และไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคม เข้ารับการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยมี นายแพทย์ศราวุฒิ สุจริตธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวช เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันสถานะทางทะเบียนราษฎร จากผู้ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ จะกลายเป็นประชาชนคนไทยเต็มขั้น ได้รับสิทธิการให้บริการด้านสุขภาพต่อไป
“ทั้งนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้บริการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) แก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรมาตั้งแต่ปี 2548 นอกจากเพื่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังใช้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อีกด้วย เพราะหลายๆ ครั้ง การใช้พยานบุคคลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถยืนยันความเป็นพ่อ แม่ ลูกและความเป็นพี่น้องกันได้ เพราะยังมีข้อสงสัย แต่ผลการตรวจพิสูจน์ทาง DNA สามารถนำไปเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของความเป็นพ่อ แม่ พี่ น้องได้ รวมถึงใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลที่เชื่อถือได้”
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เผยอีกว่า จากผลการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบันรวม 12,420 ราย ที่ทางสถาบันฯ ได้ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ยืนยันสถานะทางทะเบียนราษฎรแล้วนั้น แสดงถึงความพร้อมรอบด้าน ทั้งบุคลากร ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล และการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 กรมการปกครอง พบปัญหาไม่สามารถออกบัตรประชาชนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้ ต้องใช้ผลตรวจ DNA ขณะที่ราษฎรไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจ DNA เพราะเป็นผู้ยากไร้ ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การบันทึกความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาทางทะเบียนราษฎร ตั้งแต่ 8 ก.ค. 63 เป็นต้นมา
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เผยต่อว่า โดยความร่วมมือของ 9 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม เพื่อร่วมบูรณาการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การคัดกรองบุคคลเพื่อส่งตัวให้ทางสถาบันฯ ตรวจพิสูจน์ DNA โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนั้น สถาบันฯ จะส่งผลการตรวจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ยืนยันสถานะทางทะเบียนราษฎรและออกบัตรประชาชนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแผนลงพื้นที่จัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคลร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภาคเหนือ ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุบลราชธานีและศรีสะเกษ