“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ตอน แก้ รธน.เสี่ยงล้ม เหตุซ้ำรอยปี 2555
การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ปลุกปั้น ยื้อยุดกันมาร่วมปีกว่า ระหว่างฝ่ายสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญกับฝ่ายไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ ที่ตามคิว ที่ประชุมร่วมรัฐสภา กำหนดนัดอภิปรายและลงมติในวาระสอง ช่วง 24-25 กุมภาพันธ์นี้
ทว่ามาถึงตอนนี้ สถานการณ์ชักไม่แน่ เพราะว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 เดินทางมาถึงช่วงไคลแมกซ์สำคัญอีกครั้ง คือมีปัญหาว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำกันมา จะเดินหน้าต่อไปได้ หรือจะต้องล้มหมดทั้งกระดาน
เนื่องจาก การตัดสินชี้ขาดทั้งหมด อยู่ภายใต้อำนาจการวินิจฉัยคดีโดย 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังตากที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันอังคารที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติ 366 ต่อ 316 เห็นชอบตามญัตติที่ ส.ส.พลังประชารัฐร่วมกับ ส.ว. รวมกันประมาณ 75 คน เข้าชื่อกันเพื่อขอให้ รัฐสภาส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยว่า รัฐสภา มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ได้หรือไม่ หรือว่า สุดท้ายแล้ว รัฐสภา ทำได้เพียงแค่ แก้รัฐธรรมนูญ รายมาตรา โดยทำผ่าน มาตรา 256 เท่านั้น จะแก้มาตราเดียวเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับแบบ ที่กำลังทำกันตอนนี้ไม่ได้
เมื่อมติของที่ประชุมรัฐสภาสะเด็ดน้ำออกมาแล้ว เส้นทางต่อจากนี้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะส่งเรื่องไปให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คาดว่าเร็วสุดก็อาจปลายสัปดาห์นี้ หรือไม่ก็ต้นสัปดาห์หน้า เรื่องก็คงถึงศาลรัฐธรรมนูญ
และเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก่อนจะไปลุ้นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะล้มกระดานการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจะไฟเขียวให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสสร.มาร่างรธน.ฉบับใหม่
ลำดับแรก ต้องดูก่อนว่า สุดท้ายแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 9 คน จะมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ หรือว่าจะไม่รับคำร้อง แล้วก็อธิบายเหตุผลต่างๆ ออกมา
โดยหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเรื่องก็จบเร็ว กระบวนการต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้ ที่กำลังจะเข้าสู่การโหวตของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และสว. ในวาระสอง ที่เป็นการอภิปรายและลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยทั้งหมด กับตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256
หรือจะไม่เห็นชอบด้วย และมีการขอแก้ไขถ้อยคำ ทุกอย่าง ก็จะได้เดินหน้าต่อไปแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง หากศาลไม่รับคำร้อง
แต่หากว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็ต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้ายแล้วกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำเสร็จเร็วหรือช้า และผลการวินิจฉัยตัดสินจะออกมาอย่างไร
ทำให้การขยับเดินหน้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต้องหยุดชั่วคราว แม้ว่าพิมพ์เขียวในชั้นคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา จะเสร็จหมดแล้ว โดยมีโมเดลหลักๆ เช่น การให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 200 คน
ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง 150 คนและมาจากการเลือกทางอ้อม 50 แบบร่างของพรรคร่วมรัฐบาลในตอนแรก หรือการให้เวลากับสสร.ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 240 วัน เป็นต้น
ขณะนี้ สถานการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความไม่แน่นอน เกิดขึ้น เพราะบางส่วนหวั่นใจว่า อาจจะมีรายการประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญก็ได้
เหมือนสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ปี 2555 ที่ส.ส.เพื่อไทย ตอนนั้น ไปจับมือกับสว. เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่เป็นเรื่องขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เขียนถ้อยคำคล้าย ๆกับ มาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
โดยตอนปี 2555 ก็มีการเสนอให้มีสสร.มาร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับตอนนี้เป๊ะ จนมีการโหวตผ่านวาระแรกไปแล้ว แต่ระหว่างเตรียมจะโหวตวาระสองและสาม ก็มี สว.และส.ส.ประชาธิปัตย์เวลานั้น จับมือกันไปร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเรื่องดังกล่าวทำไม่ได้
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรทำเป็นรายมาตรา แต่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เมื่อรัฐธรรมนูญมาจากประชามติของประชาชน ก็ควรจัดให้ออกเสียงประชามติจากประชาชนก่อน
ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในยุครัฐบาลเพื่อไทย ต้องยุติกลางคันและสุดท้ายต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย ไม่เกิดการโหวตในวาระสาม
ด้วยเหตุนี้ แวดวงการเมืองโดยเฉพาะคนในเพื่อไทย ในใจลึกๆ ยังเกรง ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกรอบ จนอาจทำให้ทั้งหมดที่กำลังเดินหน้ากำลังจะมีการเลือกตั้ง สสร. 200 คน โดยตรงจากประชาชน -กำลังจะได้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกำลังจะทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นผลผลิตจากรัฐประหารคสช. กำลังสิ้นสภาพ
แต่มาถึงตอนนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสี่ยงจะต้องล้มเลิกกลางคัน เพราะโดนศาลรัฐธรรมนูญ เปิดไฟแดงเข้าใส่ เหมือนตอนปี 2555 จนล้มกระดาน อีกครั้ง