xs
xsm
sm
md
lg

บุกแหล่งผลิตจำหน่าย “ปุ๋ยเถื่อน” 6 จุดทั่วประเทศ ยึดวัตถุอันตรายการเกษตร มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ปคบ.สนธิกรมวิชาการเกษตร เข้าค้นสถานที่ผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร บริษัท คิงส์ โชบุ” 6 เป้าหมาย ยึดของกลางส่งตรวจสอบก่อนแจ้งความเอาผิดตามกฎหมาย

วันนี้ (8 ก.พ.) เวลา 14.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย ว่าที่ พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. และนายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมแถลงผลการดำเนินการตรวจค้นแหล่งลักลอบผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร “ปุ๋ยเถื่อน” ของบริษัท คิงสิ โชบุ จำกัด รวม 6 เป้าหมาย ใน จ.สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ระยอง, นครราชสีมา, อุตรดิตถ์ และประจวบคีรีขันธ์ ยึดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัตถุอันตรายประเภทที่ 2 และปุ๋ยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จำนวน 488 กระสอบ รวม 12,200 กก., วัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จำนวน 4 รายการ (แบบบรรจุกระป๋อง 5,134 กระป๋อง, แบบบรรจุกระปุก 56 กระปุก, แบบบรรจุซอง 3,500 ซอง, แบบบรรจุแกลลอน 240 แกลลอน) มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์กล่าวว่า บก.ปคบ.ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร (กวก.) สืบทราบว่า บริษัท คิงส์ โชบุ จำกัด ใช้เพจเฟซบุ๊กโฆษณาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรโดยใช้ชื่อทางการค้า “คิงส์ไตรโค” ซึ่งจากการตรวจสอบเชื่อว่ามีส่วนผสมที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นไตรโคเดอร์มาใช้กำจัดเชื้อราในทุเรียนและอื่นๆ ต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการต่อกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยที่น่าเชื่อว่าเป็นปุ๋ยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยพบว่าเพจดังกล่าวมีการสร้างเครือข่ายไปยังส่วนภูมิภาคและกระจายจำหน่ายไปทั่วประเทศ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติหมายค้นสถานที่คาดว่าเป็นแหล่งลักลอบผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าว รวม 6 จุด สามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์ของกลางดังกล่าวและเก็บตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป

“อย่างไรก็ตาม ฝากความห่วงใยต่อชาวเกษตรกร หากพบหรือสงสัยว่าปุ๋ย สารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช ที่มีส่วนผสมของวัตถุอันตรายหรือสินค้าที่ไม่มีทะเบียน สามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ทางสายด่วน 1135, ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ บก.ปคบ., เพจเฟซบุ๊กของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

ด้านนายอนันต์เผยว่า สำหรับสินค้าดังกล่าวหากนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจะกระทบต่อคุณภาพของทุเรียน และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย จากการสอบสวนเบื้องต้นเข้าข่ายความผิด 5 ข้อหา คือ 1. ขายปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ขายปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ขายปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ (พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518) ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท 4. ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 โดยไม่ได้ไม่อนุญาต (พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535) โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 5. ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มีได้ขึ้นทะเบียน (พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535) โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




กำลังโหลดความคิดเห็น