“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ตอน แปลงสิทธิ์คนแก่ เป็นหนี้ กับดักสุดโหด โทษใคร?
เรื่องการเรียกคืนเงินยังชีพคนเฒ่าคนแก่ผู้สูงอายุ ที่ทางการให้เบี้ยไปเป็นเวลานับสิบปีแล้ว ตามสิทธิ์ซึ่งมีที่มาจากนโยบายรัฐบาลในอดีต แต่มาตอนนี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอเอาคืน เงินเบี้ยยังชีพของคนสูงอายุที่จ่ายไปทั้งหมด ย้อนหลัทั้งหมด แถมขู่ว่า ใครไม่มีคืนไปเจอกันที่ศาล
เหตุผลที่มีมาตรการไร้น้ำใจกับคนแก่ออกมา เนื่องจากเป็นกลุ่มคนแก่ที่มีชื่อรับเงินซ้ำซ้อนกับเงินจากกระเป๋าประเภทอื่น กรณีที่ปรากฎออกมา เป็นการรับเบี้ยยังชีพควบไปกับการได้เงินบำนาญพิเศษ หรือเงินบำนาญสืบเนื่อง ที่เป็นมรดกจากลูกที่เป็นข้าราชการเสียชีวิต เป็นบำนาญตกทอดไว้ให้
ผู้สูงอายุที่อยู่ในเกณฑ์รับบำนาญพิเศษนี้ เลยถูกตีความ เป็นคนไม่มีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพ ตามระเบียบกรรมการกองทุนผู้สูงวัย ที่ออกมาเมื่อปีพ. ศ. 2552 ในสมัยรัฐบาล นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นับเป็นเรื่องราว เป็นข่าวดราม่าขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ที่คนไทยได้ยินได้ฟังแล้ว ล้วนมีความสะเทือนใจ เกิดอาการหงุดหงิดและไม่เข้าใจ ทำไมอยู่ดีๆ รัฐบาลประยุทธ์คิดอะไร ต้องการอะไร ถึงทำกับคนเฒ่าคนแก่ได้ลงคอถึงขนาดนี้ ?
เพราะในบทสรุปของมาตรการทวงหนี้รัฐบาลกับคนเฒ่าคนแก่ทั่วประเทศบางกลุ่มที่ได้เงินซ้ำซ้อนซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วนั้น คงไม่ผิด ถ้าจะบอกว่า รัฐบาลกำลังเป็นการใช้อำนาจรัฐ แปลงสิทธิ์คนแก่ ให้เป็นหนี้ แทน
จากสิทธิประโยชน์มาเป็นหนี้ โดยกรมบัญชีกลางแอ๊กชั่นออกคำสั่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีหน้าที่จ่ายเบี้ยยังชีพ ตามทวงหนี้คนแก่ที่มีชื่อซ้ำซ้อนได้เงินสองทาง ที่กระทรวงมหาดไทยเปิดเผยตัวเลขว่าอยู่ในข่ายโดนเช็คบิลประมาณ 15,000 ราย
แต่ความจริงอาจจะมีมากกว่านี้ก็เป็นได้ เพราะจำนวนคนแก่ในวันนี้มีกว่า11 ล้านคน ถ้าบอกออกมากมากหลายหมื่นราย หรือเป็นแสนราย สังคมก็จะแตกตื่น และพานคิดไปต่างๆนานาได้ แล้วเกิดทฤษฎีสมคบคิด สร้างชุดความคิดเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์ให้รัฐบาลเสียหายได้
อย่างเช่น เกิดมีคนอุตริ หยิบประเด็นตัวเลขมาคำนวณว่า การแปลงสิทธิ์เป็นหนี้กับคนแก่ เป็นมาตรการหนึ่งในการหาเงินเข้าคลัง ก็สามารถคิดได้ เพราะถ้าตัวเลขคนที่ถูกทวงเบี้ยคืน15,000 ราย โดยเฉลี่ยรายละประมาณ1,000 บาท ทวงหนี้ได้ครบหมดรัฐบาลจะได้เงินคืน1,500 ล้านบาท ถ้าแสนรายก็10,000 ล้านบาท อย่าคิดว่าน้อย
อย่าคิดว่าจะไม่มีคนคิด ว่ารัฐบาลจะหาเงินด้วยวิธีนี้ เพราะเห็นได้จากอาการเร่งร้อนของกรมบัญชีกลาง และเทศบาลเจ้าหนี้ ทั้งหลาย ใช้วิธีเรียกเงินที่ต้องเอาคืนให้ได้และต้องคืนเร็ว คือมีการติดตามเร่งรัดให้คืนในเวลาภายใน หนึ่งปีหรือสองปี
ถ้ายังเพิกเฉยไม่ยอมคืน ไม่ยอมรับสภาพหนี้ ทวงดีๆไม่ให้ ก็ขู่คนแก่จะโดนฟ้องคดีอาญาในข้อหาแจ้งความเท็จ และเจอคดีแพ่งเรียกคืนเงินด้วย
เห็นได้ชัดว่า การบริหารแผ่นดินที่มีการปฏิบัติเฉพาะแต่คนสูงอายุที่อยู่ในข่ายได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินซ้ำซ้อนนี้ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ ไม่อยู่บนความเสมอภาค เพราะการได้เงินงบประมาณซ้ำซ้อนย่อมมีมากมายหลายกรณี ไม่ใช่มีแค่คนสูงอายุได้เงินเบี้ยยังชีพกลุ่มเดียว
เช่น ถ้าข้าราชการเกษียณแล้ว รับเงินบำนาญ แล้วบังเอิญได้รับเงินบำนาญพิเศษอีกทางหนึ่ง เช่นกัน จากกรณีลูกหรือพ่อแม่เสียชีวิตก็ตาม จะมีการตัดสิทธ์ได้รับบำนาญออกไปเหมือนทำกับคนแก่ที่ยากจนที่ได้รับเบี้ยยังชีพหรือไม่ ซึ่งเท่าที่รู้ ไม่เคยมีระเบียบหรือการตัดสิทธิ์ในกรณีเช่นนี้มาก่อน
แค่นี้ก็เห็นว่า เป็นความไม่เป็นธรรมทางกฎหมาย เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมแล้ว ถ้ารัฐบาลประยุทธ์จะเลือกตัดสิทธิ์คนแก่กับเบี้ยยังชีพ กลุ่มเดียว
ความจริง นโยบายรัฐบาลในอดีต กำหนดไว้ดีแล้ว ว่าเงินเบี้ยยังชีพ ที่ให้กับคนแก่สูงอายุ เป็นเงินช่วยเหลือ เป็นการสงเคราะห์ให้กับผู้สูงอายุ ไม่ใช่เป็นเงินบำเหน็จบำนาญ เหมือนข้าราชการ เมื่อให้เป็นเงินสงเคราะห์ก็ต้องตัดใจให้ไป โดยไม่มีเงื่อนไข จุกจิกหยุมหยิม แสดงความใจแคบ เกินไป
แต่เมื่อรัฐบาลเอาเรื่องขึ้นมา กล่าวอ้างว่า คนแก่ที่ได้บำนาญตกทอดจากลูกที่เสียชีวิตทิ้งไว้ให้ อีกก้อนหนึ่ง ก็จะมีคุณสมบัติต้องห้าม ไม่มีสิทธิ์รับเบี้ยคนสูงอายุ และเงินที่รับไปแล้ว ก็เป็นหนี้ที่จะต้องคืนแก่รัฐพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
การกระทำของรัฐบาล ที่สร้างกับดักหนี้และความผิดแจ้งความเท็จให้คนแก่คนเฒ่า หวาดผวาไปทั่วประเทศในตอนนี้ เป็นบาปกรรมที่มีประเด็นต้องพิจารณาสองประเด็น คือ หนึ่ง,คนแก่ที่รับบำนาญพิเศษ ต้องห้ามรับเบี้ยคนสูงอายุจริงหรือไม่ และประเด็นที่สอง,รัฐมีสิทธิ์เรียกเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้หรือไม่
สรุปแล้ว ทั้งสองประเด็น มีผู้รู้ออกมาให้ความเห็นว่า รัฐไม่มีอำนาจถอนสิทธิ์ผู้สูงอายุได้เพราะ มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรับรองไว้ ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินไปไม่มีความผิดแต่อย่างใด แม้ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ทั้งไม่ต้องคืนเงินด้วย และท้องถิ่นยังจะต้องทำข้อมูลและต้องจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุต่อไปจนกว่าผู้รับเงินไปจะเสียชีวิต
สำหรับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในข้อที่ 6 ซึ่งออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2548 ไม่ได้กำหนดห้ามผู้สูงอายุซึ่งได้รับเงินอื่นจากรัฐที่ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพจากท้องถิ่น
และต่อมาปี 2552 กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบแก้ไขระเบียบนี้ โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติเพิ่มเติม ว่าห้ามจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับผู้ได้รับสิทธิ์อื่นอยู่แล้ว
จึงมีปัญหาว่าผู้สูงอายุซึ่งรับสิทธิ์เดิมจะขาดคุณสมบัติตามระเบียบที่แก้ไขในปี 2552 หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นจะระงับสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ระเบียบใหม่แก้ไขบังคับหรือไม่
ปรากฎว่า ในบทเฉพาะกาลของระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่แก้ไขใหม่เมื่อปี 2552 โดยในข้อ 17 ระบุว่า มิให้กระทบสิทธิ์ของผู้สูงอายุตามระเบียบฉบับเดิม และให้ถือว่าผู้สูงอายุดังกล่าวได้เป็นผู้ลงทะเบียนและยื่นคำขอถูกต้องตามระเบียบใหม่ นั้น จึงหมายความว่าระเบียบที่แก้ไขใหม่ ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไปตัดสิทธิ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุดังกล่าว
ถ้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไปตัดสิทธิ์ก็อาจจะถูกฟ้องร้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
เท่ากับผู้สูงอายุเป็นผู้สุจริต ไม่ได้กระทำความผิด ตามคำขู่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าหาก รัฐบาลจะฟ้องแพ่ง เอาหนี้คืน ก็ไม่ชนะ จะเรียกเอาเงินคืนไม่ได้ เพราะมีฎีกาตัดสินไว้แล้วในคดีลาภมิควรได้ กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริต
นายกรัฐมนตรี พล. อ. ประยุทธ์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีการรอมชอม แต่เมื่อข้อเท็จจริงทุกด้านปรากฎออกมาชัดเจนแบบนี้ ทางเลือกของนายกรัฐมนตรีมีทางเดียวคือ สั่งเจ้าหน้าที่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขมาผู้เฒ่าผู้แก่ไถ่โทษเท่านั้น