ศาลพิพากษายกฟ้อง ‘บก.ลายจุด’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ปลุกปั่นประชาชนต้าน คสช. หลังสู้คดีมานาน 6 ปี ชี้แค่แสดงความคิดเห็น ไม่ได้ยุยง ก่อความวุ่นวาย
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (30 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำที่ อ.3052/62 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นจำเลยในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ม.14 กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 4 มิ.ย. 2557 ต่อเนื่องกันระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยได้ส่งข้อความลงในเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ หน้าเว็บเพจชื่อ บก.ลายจุด แอดหนูหริ่ง และในเฟซบุ๊กชื่อสมบัติ บุญงามอนงค์ หลายข้อความ เช่น มีรุ่นใหญ่ บอกว่า เราล้ม คสช.ไม่ได้ ผมไม่อยากฟันธง, หยุดจากอาทิตย์นี้ผมจะเสนอกิจกรรมล้ม คสช., ประยุทธ์ตอนออกทีวี พูดคำว่าสวัสดี แต่ไม่ยกมือไหว้ประชาชน แถมยักคิ้วด้วย สุดยอดจริงๆ, “นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ 8 มิ.ย.เที่ยงตรง เห็นชอบกดไลก์ไปร่วมกดแชร์” และข้อความอื่นๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการยุยง ปลุกปั่น ทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
ในวันนี้ นายสมบัติ หรือ บก.ลายจุด เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับมวลชนที่มาร่วมฟังเพื่อให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง
พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยโพสต์ข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์หน้าเว็บเพจชื่อ“ บก. ลายจุดแอดหนูหริ่ง” และในเว็บไซต์เฟซบุ๊กหน้าเว็บเพจชื่อ“ สมบัติ บุญงามอนงค์” ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยหลายครั้ง มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพยานเบิกความในทำนองเดียวกันสรุปได้ความว่าพยานกับพวกได้รับคำสั่งให้สืบสวนติดตามพฤติกรรมของจำเลย ในการโพสข้อความลงในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย ทั้งหมด เป็นการที่จำเลย นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีลักษณะไม่ใช่เป็นการติชมโดยสุจริต ทำให้ประชาชนต่อต้านการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการสร้างความปั่นป่วนในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศ อย่างไรก็ตามพยานโจทก์แต่ละปากไม่ได้เบิกความยืนยันว่าการที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวจะทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แต่กลับเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยโดยให้ความเห็นไปในทางที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงออกถึงความคิดเห็นของจำเลยต่อการต่อต้านการทำรัฐประหาร เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของข้อความแล้วไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่จะทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในบ้านเมืองได้ ข้อความดังกล่าวกลับเป็นความรู้สึกของจำเลยที่ได้แสดงออก ถึงการวิพากษ์วิจารณ์ติชมแสดงความคิดเห็นแสดงออกเชิงประชดประชัน ไม่ถึงขนาดที่จะเกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร อีกทั้งหลังจากที่จำเลยได้โพสต์ข้อความ แล้วไม่ปรากฏว่ามีประชาชนออกมาชุมนุมแต่อย่างใด เห็นได้จากจำเลยนำสืบว่าการรัฐประหารเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องจำเลยจึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ให้จำเลยไปรายงานตัว จำเลยจึงได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของจำเลยในลักษณะไม่เห็นด้วยกับวิธีการการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนั้นเมื่อความปรากฏว่าในระหว่างเกิดเหตุอยู่ในรัฐบาลที่จำเลยอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ดังนั้นการที่จำเลยโพสต์ข้อความต่างๆในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของจำเลย แม้จะมีความเห็นต่างกับอำนาจรัฐ แต่ก็ได้กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ น่าเชื่อว่าเป็นการแสดงความเห็นติชม วิพากษ์วิจารณ์ ประชดประชัน เหน็บแนม ไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่เป็นการกระทำเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ประกอบกับชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดจนชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและความผิดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พิพากษายกฟ้อง