ที่แท้ราชทัณฑ์เพิ่งแก้ระเบียบเมื่อ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมให้นักโทษชั้นดีขึ้นไปจึงจะมีสิทธิลา แก้เป็นให้นักโทษชั้นกลางก็มีสิทธิลาได้ “ณัฐวุฒิ” รับอานิสงส์ได้ไฟเขียวออกไปเผาศพพ่อทันที 2 วันหลังเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่
จากกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งถูกศาลศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ในคดีบุกบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เมื่อปี 2550 ได้รับอนุญาตให้ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปร่วมงานพิธีฌาปนกิจศพ นายสำเนา ใสยเกื้อ บิดา ที่วัดบางเพ็งใต้ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (18 ก.ค.) ท่ามกลางข้องสัยที่ว่านายณัฐวุฒิทำไมจึงได้รับอนุญาต เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการลากิจของนักโทษเด็ดขาด (เฉพาะการลาไปประกอบพิธีเกี่ยวกับงานศพ) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 61 ได้กำหนดคุณสมบัติของนักโทษเด็ดขาดที่จะขออนุญาตลากิจไว้ว่าต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ขณะที่นายณัฐวุฒิเป็นเพียงนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง เนื่องจากเพิ่งจะเข้ารับโทษเพียงไม่ถึง 1 เดือน ยังไม่มีสิทธิที่จะเลื่อนเป็นนักโทษชั้นได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า กรมราชทัณฑ์เพิ่งมีการหลักเกณฑ์ในการลากิจของนักโทษเด็ดขาด โดยแก้ไขคุณสมบัติของนักโทษเด็ดขาดที่จะขออนุญาตลากิจ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป โดยนายณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงนามในประกาศแก้ไขหลักเกณฑ์ดังล่าวเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากบิดาของนายณัฐวุฒิเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา และนายณัฐวุฒิก็ได้รับอนุญาตให้ลากิจไปงานเผาศพบิดาในวันที่ 18 ก.ค. 2 วันหลังการประกาศแก้ไขหลักเกณฑ์ และน่าสงสัยว่ามีใบสั่งมาจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นคนในเครือข่ายของนายทักษิณ ชินวัตร เช่นเดียวกับนายณัฐวุฒิหรือไม่
ทั้งนี้ กรณีของนายณัฐวุฒิที่สามารถลาออกไปร่วมงานศพของบิดาได้ ยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เคยถูกจำคุกในคดี พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2559 แต่ไม่สามารถออกมาร่วมงานศพนางจันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล ภรรยา ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2559 ได้
โดยนายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์นักโทษในเรือนจำมีสิทธิประโยชน์ในการลากิจเพื่อออกจากเรือนจำไปร่วมงานสำคัญของญาติพี่น้อง เช่น งานศพ หรือเพื่อประโยชน์ของผู้ต้องขังได้ แต่ผู้ต้องขังที่จะขอใช้สิทธิต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของเรือนจำ อาทิ เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ที่ต้องได้รับโทษถูกจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 หากเป็นนักโทษชั้นดีมากต้องได้รับโทษถูกจำคุกมาแล้ว 3 ใน 4 และนักโทษชั้นดีต้องได้รับโทษถูกจำคุกมาแล้ว 4 ใน 5
นายกอบเกียรติอ้างว่า กรณีนายสนธิเพิ่งจะเข้ามารับโทษในเรือนจำประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ยังเป็นนักโทษชั้นกลาง จึงไม่สามารถใช้สิทธิลากิจขอออกไปร่วมงานศพภรรยาได้