MGR Online - “ดีเอสไอ” สนธิกำลังมณฑลทหารบกที่ 44 ตามจับกุม พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ผู้ต้องหาในคดีบุกรุกอาคารรัฐสภา ปี 53 คาบ้านพัก จ.ชุมพร ก่อนหมดอายุความ 7 เม.ย.นี้
วันนี้ (5 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.00 น. ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ท.สถาพร จตุวรพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว นำโดย ว่าที่ ร.อ.สุริยา ก่อเกิด พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองร้อยทหารสารวัตร มณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร โดยได้รับการสนับสนุนกำลังพลจาก พล.ต.พรชัย อินทนู ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 44 มอบหมายให้ ร.อ.อาทิตย์ คลังนิมิตร ผบ.ร้อย สห.มทบ.44 นำหมายจับของศาลอาญาที่ 1551/2562 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2562 (คดีพิเศษที่ 59/2553) เข้าทำการจับกุม พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ผู้ต้องหาในคดีบุกรุกอาคารรัฐสภาเมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้ที่บริเวณหน้าบ้านพักเลขที่ 12 หมู่ 7 ต.ปากน้ำ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร โดยมีการนำตัวผู้ต้องหาไปตรวจวัดอุณหภูมิที่โรงพยาบาลปากน้ำชุมพร พบว่ามีอุณหภูมิในร่างกาย 37 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการไข้ ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงนำตัวมาควบคุมที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยคดีนี้จะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 เม.ย. 63 ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจักได้ประสานงานพนักงานอัยการ เพื่อเร่งฟ้องคดีภายในวันดังกล่าวต่อไป
ด้าน นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในช่วงที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ดีเอสไอยังคงดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมคดีพิเศษอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้และคดีที่ค้างเก่า โดยเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และมีการปรับกำลังให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทุกนายจะต้องมีการป้องกันตนเองตามมาตรการเพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนื้ พ.ต.ท.สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะกำกับดูแลกองปฏิบัติการคดีพิเศษที่รับผิดชอบในการควบคุมผู้ต้องหา ได้กำชับให้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลผู้ต้องหา โดยให้มีการจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น และจัดให้มีเวรตรวจตราเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมผู้ต้องหาทุก 2 ชั่วโมง อีกด้วย
สำหรับห้องควบคุมผู้ต้องหาได้มีการทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อโรคก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นไปตามมาตรการในการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ให้มีความปลอดภัยสำหรับประชาชนผู้มาติดต่อราชการ รวมทั้งการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา ทั้งผู้เสียหาย พยาน และผู้ต้องหาระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ดีเอสไอ