MGR Online - เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเห็นชอบกับแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชั้นบังคับคดี ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
วันนี้ (29 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง โดยรัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการที่ 6 ด้านการให้ช่วยเหลือเยียวยาโดยให้พิจารณามาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีภาระในการผ่อนชำระที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องการบังคับคดี หนี้นอกระบบ กรมบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมมีภารกิจด้านการบังคับคดีตามคำพิพากษา หรือ คำสั่งของศาล จึงได้หารือสถาบันการเงินและภาคเอกชนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กำหนดแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชั้นบังคับคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้ 1. กรณีคดีที่ยังไม่มีการตั้งเรื่องบังคับคดีหรือยังไม่มีการยึด เจ้าหนี้จะชะลอการดำเนินการ ยึดทรัพย์ไว้ก่อนเป็นระยะเวลา 3 เดือน เว้นแต่กรณีที่การบังคับคดีใกล้พ้นระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี หรือทรัพย์สืบพบที่เกรงว่าจะจำหน่ายจ่ายโอน ยังคงต้องดำเนินการบังคับคดีไปตามปกติ และ 2. กรณีคดีที่อยู่ระหว่างบังคับคดีหรือขายทอดตลาด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ ตามคำพิพากษาเข้ามาเจรจากับเจ้าหนี้เป็นรายคดีไป ซึ่งหากการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จเจ้าหนี้ก็จะงดการบังคับคดีหรืองดการขายทอดตลาดต่อไป
โดยมีเจ้าหนี้ที่แถลงร่วมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ดังนี้ 1. สมาคมธนาคารไทย จำนวน 15 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน), ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารออมสิน 3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 4. บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด 5. บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 7. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) 9. บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด 10.บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด 11. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และ 12. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ กรมบังคับคดีพร้อมให้บริการโดยลูกหนี้ที่มีความประสงค์จะทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สามารถยื่นคำร้องได้ ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือ ยื่นคำร้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในหน้าเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี