xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งปรับ"ฟิลลิป มอร์ริส" 1.2 พันล้าน นำเข้า"มาร์ลโบโร-แอลแอนด์เอ็ม"เลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอาญาพิพากษา ปรับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เป็นเงินกว่า 1.2 พันล้านบาท ฐานหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ มาร์ลโบโร และ แอลแอนด์เอ็ม และสำแดงราคาบุหรี่ไม่ตรงตามราคา ส่วนจำเลยที่ 2-8 ซึ่งเป็นลูกจ้างให้ยกฟ้อง ผู้จัดการสาขาประเทศไทยยันทำถูกต้องตามกฎหมายเตรียมยื่นอุทธรณ์



ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (29 พ.ย.) ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ หมายเลขดำ อ.185/2559 พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ที่มี นายเจอรัลด์ มาโกลีส ชาวสหรัฐเอมริกา ผู้จัดการสาขาบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) เป็นผู้แทน , นายศิลาเอก สุนทราภัย อายุ 51 ปี , นางดาลัค วารณะวัฒน์ อายุ 48 ปี , น.ส.เสาวลักษณ์ อาภาเบิกบาน อายุ 42 ปี , น.ส.จรรยานี วิสุทธิกุลพาณิชย์ อายุ 48 ปี , น.ส.สุจินดา ไตรรัตน์เกยูร อายุ 53 ปี , นางทรรศสม ลาภประเสริฐ อายุ 52 ปี และ น.ส.วราภรณ์ อภิเสถียรสุข อายุ 42 ปี พนักงานชาวไทย ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 , 115จัตวา ,พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11 ) พ.ศ.2490 มาตรา 3 , พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2543 มาตรา 10ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 , พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4-9 ซึ่งคดีมีอัตราโทษ ตามกฎหมายศุลกากร ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาที่รวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ทั้งปรับและจำคุก

ตามฟ้องอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2559 บรรยายพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.ค.2546 - 24 มิ.ย.2549 บริษัท ฟิลลิปฯ กับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร (MARLBORO) และยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็ม (L&M) เข้ามาในราชอาณาจักร และร่วมกันบังอาจสำแดงเท็จโดยฉ้อโกงและออกอุบายด้วยการยื่นใบขนส่งสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงราคาอันเป็นเท็จไม่ตรงตามราคาที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นความผิดทั้งสิ้น 272 ครั้ง โดยรวมราคาของสินค้าบุหรี่บวกกับราคาภาษีอากร ที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20 , 210,209,582.50 บาท (สองหมื่นล้าน สองร้อยสิบล้านสองแสนเก้าพันห้าร้อยแปดสิบสองบาทห้าสิบสตางค์) สำหรับจำเลยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป ด้วยหลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท


โดยในวันนี้นายเจอรัลด์ ผู้จัดการสาขาบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กับจำเลยที่ 2-8 มาฟังคำพิพากษาพร้อมทีมทนายความและบุคคลใกล้ชิดจำนวนหนึ่งที่มาให้กำลังใจ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-8 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทก์มีเจ้าหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 3 ราย เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 1 ตั้งสาขาในประเทศไทยนำเข้าบุหรี่ 2 ยี่ห้อจากประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติเป็นการนำสินค้าบุหรี่มาจากประเทศฟิลิปปินส์มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัทหลายครั้งเพื่อให้เกิดความยุ่งยากในการเรียกมาสอบสวน ในการสำแดงสินค้าระบุราคาต้นทุนในการขนส่งและนำเข้า หรือ CIF ลดลงเรื่อยๆ โดยสำแดงราคาบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร (MARLBORO) ราคา 9.50 บาทต่อซอง ยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็ม (L&M) ราคา 7 บาทต่อซอง ก่อนสำแดงในปีถัดมา ช่วงระหว่างปี 2546-2547 สำแดงราคายี่ห้อมาร์ลโบโร นำเข้า 7.76 บาทต่อซอง และ ยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็ม ราคา 5.88 บาทต่อซอง เป็นการตั้งราคาตามอำเภอใจ เพื่อให้จ่ายภาษีได้น้อยลง ในขณะที่คู่แข่งนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศรายอื่น แจ้งราคา CIF ยี่ห้อมาร์ลโบโร นำเข้า 27 บาทต่อซอง และ ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม 16 บาทต่อซอง เห็นได้ว่า โดยการนำเข้าบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย เป็นกลุ่มบริษัทในเครือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโลโก้เป็นรูปม้า 2 ตัว และอักษรคำว่าฟิลิป มอร์ริส ภาษาอังกฤษแบบเดียวกัน นอกจากนี้พยานยังระบุว่าระหว่างปี 2546 -2550 จำเลยที่ 1 โอนเงินค่าสินค้าไปยังบริษัทในเครือของบริษัทแม่ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สิงค์โปร์ ซึ่งการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของจำเลยนั้น โจทก์มีหลักฐานจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทจำเลยที่ 1 ในการนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร (MARLBORO) และ ยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็ม (L&M) ดังนั้นการนำเข้าบุหรี่ทั้งสองยี่ห้อ ของจำเลยเป็นการสำแดงราคาที่ต่ำลงและคงที่อยู่นานถึง 3 ปี ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าผู้นำเข้ารายอื่นหลายเท่า ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าสำแดงราคาถูกต้อง และการนำเข้าไม่มีการโต้แย้งจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้น ไม่อาจต่อสู้หักล้างพยานฐานโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าตามใบขน 272 ฉบับ ราคา 12,270,608,315 บาท โดยคำนวณจากราคาของผู้ค้าในดิวตี้ฟรี เป็นฐานคำนวณเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลยที่ 1 เห็นสมควรกำหนดราคาลงกึ่งหนึ่งคงเหลือ 6,135,304,157.50 บาท เมื่อคำนวณเป็นภาษีอากรที่ต้องชำระเป็นเงิน 306,497,667.87 บาทจำเลยที่ 1กระทำผิดตามฟ้อง

ประเด็นต่อมา จำเลยที่ 2-8 ร่วมรู้เห็นกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่

จำเลยที่ 2-8 ยอมรับว่าลงลายมือชื่อในการทำธุรกรรมทางการค้าไปตามหน้าที่ ในฐานะลูกจ้างเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากการเจรจานำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ เห็นว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศในเครือ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2-8 ร่วมรู้เห็นด้วย พยานหลักฐานไม่พอรับฟังให้ลงโทษจำเลยที่ 2-8 ได้

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บาท ลงโทษปรับ 4 เท่าของค่าภาษีอากรที่ต้องชำระจำนวน306,497,667.87 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,990,671.50 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2-8

ด้านนายเจอรัลด์ มาโกลีส ชาวอเมริกัน ผู้จัดการสาขาบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำกัด เปิดเผยภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ส่วนตัวยินดีกับพนักงานทั้ง 7 คน ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนคำตัดสินในของบริษัทฯ ทางบริษัทฯให้ความเคารพ แต่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากมองว่าไม่ตรงกับคำตัดสินขององค์กรการค้าโลก(WTO) ที่เคยมีคำตัดสินไปก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่าบริษัทฯได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยในเรื่องของการแสดงราคาสินค้าและการยื่นสำแดงภาษีนำเข้าบุหรี่



กำลังโหลดความคิดเห็น