รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2562 ตอน ตำรวจฆ่าตัวตาย-ลาออก สังเวยชีวิตรันทดไม่จบสิ้น?
ประเด็นร้อนในแวดวงสีกากี หลังจากที่มีการปูดข่าวว่าตำรวจตั้งแต่ระดับนายดาบจนถึงนายพลเกือบ 1 พันนาย แห่ลาออกจากราชการ สื่อบางสำนักถึงขั้นระบุว่า ภาวะวิกฤตศรัทธาครั้งนี้องค์กรสีกากีระส่ำหนัก
ข่าวชวนระทึกใจแบบนี้ ได้แพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว มีการแชร์ข่าวว่อนโลกโซเชียลฯ สร้างความแตกตื่น ปนไปกับความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จึงร้อนถึง "บิ๊กแป๊ะ" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ต้องออกมาชี้แจงแถลงไข ว่า กรณีนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่ เป็นตำรวจที่ได้รับให้อนุมัติให้ลาออกตามโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพลรุ่นที่ 20 ปีงบประมาณ 2563 หรือ เออร์ลี่รีไทร์ จำนวน 933 นาย
ผบ.ตร.ยืนยันว่าตัวเลขแค่นี้จิ๊บๆ ไม่ได้กระโดดจากปีก่อนมากนัก รวมทั้งไม่กระทบกับโครงสร้างองค์กร เพราะตำรวจมีกำลังพลกว่า 2 แสนนาย ที่เออร์ลี่รีไทร์ไปไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ตำรวจยังทำงานได้ตามปกติ
ส่วนสาเหตุมาจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่หรือไม่นั้น บิ๊กแป๊ะ ชิ่งไปว่าต้องดูเป็นรายบุคคล เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นความสมัครใจของตำรวจแต่ละนาย
ความจริงเรื่องนี้เป็นจริงแค่ไหน จากการสำรวจพบว่า ปีนี้มีตำรวจขอเออร์ลี่รีไทร์ เพิ่มขึ้นมาจากปีที่แล้วที่มีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 720 คน คิดเป็นร้อยละ 22 ส่วนในปีงบประมาณ 2561 มีจำนวน 475 คน หากพิจารณาดีๆ จะเห็นได้ว่าตัวเลขของผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นบ้าง
ขณะเดียวกันพบว่าข้าราชการที่ขอเออร์ลี่รีไทร์ครั้งนี้ จำแนกเป็นระดับ ผบก. 5 นาย รองผบก. 12 นาย ผกก.9 นาย รองผกก. 124 นาย และสารวัตร 116 นาย นอกจากนั้นเป็นระดับรองสารวัตรและชั้นประทวน ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เหลืออายุราชการ 1-3 ปี
สำหรับหลักเกณฑ์ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ได้ ต้องเป็นตำรวจยศไม่เกิน พล.ต.ท. มีอายุ 50 ปี บริบูรณ์ หรือ มีเวลาราชการ 25 ปี บริบูรณ์ และต้องมีอายุราชการเหลือ 1 ปี ขึ้นไป
จึงคิดไปได้ว่า ตำรวจที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นตำรวจที่รับราชการมานาน บางรายครองตำแหน่งมานานโดยเฉพาะระดับ รองผกก. และ สารวัตร จนขั้นเงินเดือนเต็มเพดาน เหลืออายุราชการไม่มาก บางคนเบื่อหน่ายระบบการแต่งตั้งโยกย้ายการวิ่งเต้นเลื่อนตำแหน่ง จึงตัดสินใจไขก๊อกดีกว่า
ที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่ตำรวจเหล่านี้ต้องเผชิญตั้งแต่เริ่มรับราชการนอกจากระบบอุปถัมภ์ถึงหยั่งรากลึกมายาวนาน คนทำงานโตช้า หรือไม่โต หากไม่มีเส้นสาย มีนายคอยหนุน
ซ้ำร้ายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังต้องพบกับความไม่แน่นอนกับหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย
คือตั้งแต่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ระดับ สว. ถึง รองผบก. เจอชักบันไดหนี 2 รอบ รอบแรกสมัย "บิ๊กอ๊อด" พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง เป็นแม่ทัพสีกากี ครั้งนั้นเรียกว่าชักบันไดหนีนักวิ่ง เตะสกัดเด็กเส้น โดยขยับเวลาครองตำแหน่งทุกระดับเพิ่มอีก 1 ปี
ขณะที่รอบสองเป็นการชักบันไดหนีระดับนายพัน แต่ติดบันไดเลื่อนระดับนายพล กล่าวคือระดับรองสารวัตร - รองผบก.ต้องครองตำแหน่งนานขึ้นจากกฎเดิมอีก 1 ปี แต่ระดับนายพล ทุกระดับครองตำแหน่งเพียง 1 ปี เท่านั้น ท่ามกลางข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ "คนพิเศษ" ของนายผู้มีอำนาจ
กรณีที่เกิดขึ้นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน จึงได้นำหลักเกณฑ์การแต่งตั้งมาบรรจุไว้ใน ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับแก้ไขใหม่ เป็นครั้งแรก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครเป็นพิเศษอีก และเป็นหลักประกันว่ากติกาในการแต่งตั้งโยกย้ายมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่เปลี่ยนไปมาเหมือนเช่นในอดีต
จากปัญหาการชิงเออรี่รีไทร์หนีชีวิตรันทด อีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่พูดถึงไม่ได้ คือการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวน หลังในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน เกิดเหตุโศกนาฏกรรม ตำรวจ 4 นาย ก่อเหตุยิงตัวตาย หลังถูกโยกย้ายผิดฝาผิดตัวมาทำงานสอบสวน
ทั้งหมดนี้ต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงของคำสั่งคสช.ที่ 7/2559 ยุบแท่งพนักงานสอบสวน มีการเกลี่ย ผกก.สอบสวน หลายร้อยอัตราโอนไปแขวนตามกองบัญชาการและกองบังคับการต่างๆ
พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญถูกย้ายไปอยู่สายงานอื่น ทั้งสืบสวน ปราบปราม และงานจราจร ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวนตามมา
หากยังจำกันได้เรื่องนี้ยังเป็นชนวนเหตุหนึ่งให้ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล เลขาธิการสมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ใช้เชือกผูกคอเสียชีวิตในบ้านพัก
ถือเป็นศพแรกที่เซ่นสังเวย ตอกย้ำ "ความผิดพลาด" ของคำสั่งนี้
ถัดมาอีกปีสำนักงานกำลังพลมีการปรับเกลี่ยรองสวป.ที่เกินกรอบตำแหน่งรองสวป.ที่วิเคราะห์ได้ ไปเป็นตำแหน่งพนักงานสอบสวน 3,502 ตำแหน่ง
จนปรากฏภาพตำรวจตำแหน่งรองสารวัตรปราบปรามจับฉลาก ถูกแชร์ว่อนโซเชียลฯ
ผ่านมา 3 ปี เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ว่าตำแหน่งพนักงานสอบสวน ซึ่งถือเป็นหัวใจของงานตำรวจและเป็นกระดุมเม็ดแรกของกระบวนการยุติธรรม แต่คนที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ กลับมาจากการจับฉลาก
ที่สำคัญการปรับเกลี่ยกำลังพลครั้งนี้ทำให้เกิดการโยกย้ายผิดฝาผิดตัว ทำให้ตำรวจที่ถูกโยกมาโดยไม่สมัครใจเกิดความเครียดถึงขั้นตัดสินใจใช้ความตายในการยุติปัญหา นี่จึงเป็นตลกร้ายอีกบทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับตำรวจ
การขาดแคลนพนักงานสอบสวนเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด เพราะงานสอบสวนต้องใช้ทั้งความรู้ทางกฎหมาย อาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ สภาพแวดล้อมการทำงานท่ามกลางความกดดันรอบด้าน จึงไม่มีใครอยากมาหน้าที่นี้
จึงมีการกำหนด "แท่งพนักงานสอบสวน" ขึ้นมา มีโครงสร้างของตัวเอง วางแนวทางการเจริญเติบโตเลื่อนไหลตั้งแต่ระดับรองสารวัตรจนถึงผู้บังคับการ แต่ละขั้นจะต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติ คุณภาพและปริมาณ รวมถึงอายุงาน ทำให้พนักงานสอบสวนที่เติบโตมามีความเชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ก็มีการให้ค่าตอบแทนพิเศษเทียบเท่ากับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และพนักงานอัยการ เพื่อจูงใจ แต่ทั้งหมดมาพังครืนด้วยคำสั่ง คสช.เพียงฉบับเดียว
วันนี้ เชื่อว่าผู้มีอำนาจตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เริ่มเห็นสัญญาณชัดจากกรณีการลงมาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองของ ผบ.ตร.ที่มีการเชิญตัวแทนพนักงานสอบสวนสัมมนารับฟังความคิดเห็น เบื้องต้น "บิ๊กแป๊ะ" ยอมรับว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้น พร้อมให้คำมั่นในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน-ระยะกลาง-ระยะยาว
รวมทั้งเตรียมปัดฝุ่น "แท่งพนักงานสอบสวน" ปัญหานี้จึงดูเหมือนเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ส่วนสำเร็จหรือไม่...เรื่องนี้ต้องดูกันไปยาวๆ