xs
xsm
sm
md
lg

อัยการฟ้องเพิ่มแกนนำ คปท.พร้อมหัวหน้าการ์ด ฐานร่วมชุมนุมกับ กปปส.ขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รองโฆษกอัยการเผยยื่นฟ้องเพิ่ม “อุทัย ยอดมณี “ เเกนนำ คปท. พร้อมหัวหน้าการ์ด คดี ร่วมชุมนุม “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำ กปปส.ขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อปี 57 ขณะที่ศาลรับฟ้องและให้ประกันตัวตีราคา 6 แสนบาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ

วันนี้ (16 ต.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ เปิดเผยว่า ในวันนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้นำตัวนายอุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เเละนายนัสเซอร์ ยีหมะ หัวหน้าการ์ด คปท.มายื่นฟ้องต่อศาลอาญาเป็นคดีหมายเลขดำ ที่ 3762/2562 ในความผิดฐานร่วมกันกบฏ, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง, ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 รวม 8 ข้อหา กรณีได้ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่ต่อต้านและเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกช่วงปี 2556-2557 จากกรณีรัฐบาลผลักดันร่างพระราชบัญญัติ “นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” หรือ พ.ร.บ.นิรโทษฉบับเหมาเข่ง ที่เสนอโดย ส.ส.จังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย โดยศาลได้รับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อ.2732/2562

นายประยุทธกล่าวว่า สำหรับคดีร่วมกันเป็นกบฏ กปปส.นั้น อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาแบ่งออกเป็น 3 ชุด โดยในชุดแรกประกอบด้วยนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 57 ปี หนึ่งในผู้บริหารสื่อเครือเนชั่นกรุ๊ป, นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 42 ปี อดีต ส.ส.กทม.ร่วมชุมนุม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม., นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 68 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), นายเสรี วงศ์มณฑา อายุ 70 ปี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ก่อนหน้านี้ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการพิจารณาอุทธรณ์

ส่วนชุดที่ 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.กับพวกจำเลย รวมทั้งหมด 39 คน ที่อยู่ระหว่างสืบพยานอยู่ในศาลอาญา ส่วนผู้ต้องหาที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องไปแล้วแต่ยังไม่ได้นำมาฟ้อง ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่ง เช่น นายนิติธร ล้ำเหลือ, น.ส.จิตรภัสร์ กฤดากร ที่ยังมีเอกสิทธิ์ ส.ส.ในสมัยประชุมสภา

ขณะที่ น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินจากกองทุนยุติธรรม และกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัท วิริยะประกันภัยฯ มูลค่าหลักทรัพย์คนละ 600,000 บาท (เท่ากับวงเงินประกันกลุ่มแกนนำ กปปส.) เพื่อขอปล่อยชั่วคราว

ล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น.ศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้ว อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายอุทัยและนายนัสเซอร์ โดยตีราคาประกันคนละ 6 แสนบาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขแต่อย่างใด ซึ่งภายหลังได้ประกันตัว นายอุทัยและนายนัสเซอร์ พากันเดินทางกลับทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดี กกปส.หมายเลขดำที่ อ.1191/2557 สำนวนแรกที่ยกฟ้องนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ศาลอาญาอ่านพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม แกนนำ กปปส., นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. ปัจจุบันเป็นรองผู้ว่าฯ กทม., นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า และนายเสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง, ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 รวม 8 ข้อหา ซึ่งจำเลยทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อหา และจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างสู้คดี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่อัยการโจทก์นำสืบมารับฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้ง 4 รายได้เข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. แต่ไม่ได้เป็นแกนนำที่สั่งการผู้ชุมนุม หรือขึ้นปราศรัยสั่งการให้กระทำการรุนแรง ซึ่งการชุมนุมของ กปปส. ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัย ที่ 59/2556 ว่าการชุมนุมของ กปปส.สืบเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 สืบเนื่องจากเหตุที่คัดค้านการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำความผิดตามฟ้องทั้ง 8 ข้อหา จึงพิพากษายกฟ้อง
อุทัย ยอดมณี (แฟ้มภาพ)


กำลังโหลดความคิดเห็น