MGR online - สาวใหญ่ ร้อง ปอท.ถูกคนร้ายแฮกไลน์เพื่อนหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีสูญ 2.6 หมื่นบาท คาดเป็นเดียวกับที่เคยหลอกรรยาสารวัตรแร้มโบ้ ขณะเดียวกันพิธีกรทีวีดัง เข้าแจ้งความเอาผิดคนแฮกเฟซบุ๊กหลอกยืมเงินเพื่อน
วันนี้ (15 ต.ค.) เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) น.ส.ปรียาภรณ์ สมสร้อย อายุ 42 ปี พนักงานการเงินบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ธนนชัยย์ ศรีบุญจันทร์ รอง สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. เพื่อแจ้งความเอาผิดคนร้ายหลังแฮกไลน์ของบุคคลที่รู้จักหลอกให้โอนเงิน 2 ครั้ง ความเสียหายรวมเป็นเงิน 26,000 บาท
น.ส.ปรียาภรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา คนร้ายได้แฮกไลน์เพื่อนของตนและส่งข้อความมาให้โอนเงินโดยอ้างว่าแอพพลิเคชั่นโอนเงินเสีย ขอให้ตนเองช่วยโอนเงินไปให้ชื่อบัญชีคนๆ หนึ่ง จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก 16,000 บาท และครั้งที่สอง 10,000 บาท รวมเป็น 26,000 บาท ซึ่งหลังจากโอนเงินผ่านไปเพียง 5 นาที ก็ได้เปิดเฟซบุ๊กพบว่าเพื่อนคนดังกล่าวได้ส่งข้อความประกาศเตือนว่าถูกแฮกไลน์ไปขอยืมเงินคนรู้จักและอย่าให้เด็ดขาด จึงไปแจ้งความ สน.ลุมพินี เมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน ก่อนนำเอกสารจากเจ้าหน้าที่ไปขออายัดเงินที่โอนเงินไปให้กับธานาคารแต่สุดท้ายไม่ทัน คนร้ายถอนเงินไปก่อน
น.ส.ปรียาภรณ์ กล่าวอีกว่า จากนั้น จึงตรวจสอบข้อมูลคาดว่าคนร้ายเป็นรายเดียวกันซึ่งเคยหลอก นางฐิติณ์ชญา เจษฎาเดช ภรรยาของ พ.ต.อ.สุรโชค เจษฎาเดช หรือสารวัตรแรมโบ้ ซึ่งเคยแจ้งความไว้ที่ สน.บางชัน แล้วเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และวันนี้เดินทางมา บก.ปอท. เพื่อขอให้ช่วยสืบสวนสอบสวนเอาคนร้ายมาดำเนินคดี ทั้งที่เคยสัญญากับสารวัตรแรมโบ้ว่าจะไม่ทำอีกแต่กลับพบว่าจนถึงปัจจุบันคนร้ายยังคงก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง
ในเวลาต่อมา น.ส.สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ พิธีกรรายการทีวีทางช่องไทยรัฐทีวี เข้าแจ้งความ ร.ต.อ.หญิง กรฉัตร มาตรศรี รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. หลังถูกคนร้ายแฮกเฟซบุ๊ก พร้อมส่งข้อความหาคนรู้จักหลอกโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแห่งหนึ่ง
น.ส.สร้อยฟ้า ระบุว่า ในช่วงเช้าวันนี้คนรู้จักได้โทรศัพท์มา 15- 20 สาย และสอบถามตนเองผ่านเฟซบุ๊กว่าต้องการให้โอนเงินจริงหรือไม่ จึงรู้ตัวว่าถูกคนร้ายแฮกเฟซบุ๊ก ทั้งนี้ฝากเตือนว่าตนเองไม่เคยมีพฤติกรรมขอยืมเงินกับเพื่อนและหากประชาชนท่านใดเจอพฤติกรรมในลักษณะนี้ก็ให้โทรสอบถามกับบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างก่อนที่จะมีการโอนเงินเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
เบื้องต้น พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้รับเรื่องดำเนินการตรวจสอบและส่งข้อมูลให้กับสน.ท้องที่ ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า สำหรับคดีการปลอมหรือแฮกเฟซบุ๊ก และแอพพลิเคชั่นไลน์ แล้วนำไปหลอกบุคคลใกล้ชิดของผู้เสียหายนั้น ยังคงเป็นปัญหาอยู่หลายคดี โดย ปอท. ขอย้ำเตือนในการระมัดระวังด้วยกัน 2 ส่วน 1.เจ้าของบัญชีควรตั้งรหัสซึ่งเป็นระบบป้องกันให้คาดเดายาก อย่าใช้หมายเลขโทรศัพท์ หรือวัน เดือน ปีเกิด และควรตั้งรหัสป้องกันถึง 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า ทูแฟกเตอร์ ออทิเนชั่น และ 2.ผู้ที่จะถูกหลอก หากมีข้อความการขอยืมเงิน หรือให้โอนเงินควรมองในแง่ลบไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และอย่ารีบโอนเงิน จากนั้นควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดจริงๆ โดยการสอบถามข้อมูลสิ่งที่คุ้นชินระหว่างซึ่งกันและกัน และจะปลอดภัยจากแก๊งมิจฉาชีพต่างๆ