xs
xsm
sm
md
lg

ทนายแจงนายพลอ้างศาลให้ลูกน้องบุกบ้านเปลี่ยนกุญแจทำไม่ได้ ต้องใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องขับไล่ ยกบทเรียนรื้อบาร์เบียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - ทนาย“วิญญัติ” เผยข้อกฎหมาย “นายพล”คนดังพาพวกบุกเปลี่ยนกุญเเจบ้าน ทายาทร้านเพชร ทำไม่ได้ เเม้ยกคำพิพากษาอ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ ชี้ต้องใช้สิทธิทางศาลแพ่งฟ้องขับไล่และให้ศาลออกหมายบังคับเท่านั้น ยกเคส รื้อบาร์เบียร์เป็นตัวอย่าง

วันนี้ (11 ต.ค.) นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความและเลขาธิการ สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีที่สื่อมวลชนมีการ เสนอข่าวที่ น.ส.พิมพ์นรี หรือบี โหตะไวทยากร อายุ 33 ปี ลูกสาวเจ้าของร้านเพชร ชื่อดังได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.บางศรีเมืองกับ พ.ต.ต.อานนท์ แพรงาม สว.สอบสวน สภ.บางศรีเมือง ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานกรณีเมื่อวันที่ 4 ต.ค.มีชายฉกรรจ์คล้ายทหารหรือตำรวจ จำนวนหลายสิบนาย เข้ามาที่บ้านหลังดังกล่าวซึ่งขณะนั้นตนเองไม่ได้อยู่ในบ้าน กลุ่มชายดังกล่าวจึงให้แม่บ้านที่ดูแลอยู่เปิดประตูบ้าน ก่อนจะเข้าไปทำการเปลี่ยนลูกกุญแจบ้านทั้งหมด ทำให้ตนเองและน้องสาว คือ น.ส.พิมพ์ลริล ไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้

ซึ่งภายหลัง พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียนอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมได้ออกมายอมรับว่าเข้าไปที่บ้านหลังดังกล่าวจริงและขอยืนยันว่าบ้านหลังดังกล่าวในขณะนี้เป็นทรัพย์สินของตัวเองตามคำสั่งของศาล ว่าจากการที่ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชนโดยยังไม่เป็นที่ยุติ กรณีนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์หรือยังต้องสู้กันถึงความเป็นเจ้าของอยู่นั่นเอง แต่เท่าที่ทราบจากข่าวฝ่ายลูกสาวเจ้าของร้านเพชร ถือเป็นผู้ครอบครองบ้านและยังอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย แน่นอนว่าในเรื่องของการพิสูจน์ว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่นั้นเป็นเรื่องทางแพ่งที่ต้องใช้สิทธิทางศาล แต่จากพฤติการณ์มีผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้ครอบครองบุกเข้าไปในบ้านและมีการเปลี่ยนกุญแจบ้านไม่ให้คนที่อาศัยเข้าไปในบ้าน จะเข้าข่ายเป็นการบุกรุกได้นั่น ผู้ที่บุกเข้าไปหรือสั่งการให้คนบุกเข้าไปจะต้องมีเจตนาที่จะรบกวนสิทธิครอบครองบุกรุกของเขาโดยปกติสุข

ดังนั้น การกระทำโดยการเอาคนเข้าไปตั้งแต่สองคนขึ้นไปเข้าไปโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมของผู้ครองครองบ้านแล้วไปเปลี่ยนกุญแจ ถือว่าเข้าข่ายเป็นการรบกวนการครอบครองสิทธิของเขาโดยปกติสุข อาจเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 ประกอบ มาตรา 365(2)

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เข้าไปเปลี่ยนกุญแจอาจยกข้อสู้ว่าไม่มีเจตนาบุกรุกหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งก็จะต้องเป็นข้อต่อสู้ตามกระบวนทางกฎหมาย เมื่อผู้ครองครองบ้านถือเป็นผู้เสียหายมีการแจ้งความต่อตำรวจ ก็ต้องสอบสวนข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้ง ทั้งนี้ความผิดฐานบุกรุก เป็นคดีทีสามารถยอมความกันได้ แต่หากกระทำในเวลากลางคืนหรือมีจำนวนตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถยอมความได้

ในเรื่องนี้แม้อีกฝ่ายจะมีการอ้างคำพิพากษาว่าตัวเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือมีกรรมสิทธิรวมในบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้หรือใช้กำลังชายฉกรรจ์บุกเข้าไปและเปลี่ยนกุญแจ การกระทำเช่นนี้ ตนมองว่า เป็นการใช้วิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่ใช้สิทธิทางศาลให้ถูกต้องภายใต้กฎหมายที่ทุกคนต้องถือปฏิบัติ อย่างนี้ใครมีกำลังมากกว่าหรือสามารถข่มเหงใครก็ดำเนินการนอกกฎหมายหรือไม่เคารพกฎหมาย บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร

การที่จะบังคับให้ผู้อื่นที่อาศัยอยู่หรือผู้ครอบครองออกจากบ้านดังกล่าวนั้น จะต้องใช้สิทธิทางศาล ยื่นฟ้องขับไล่เป็นคดีแพ่งต่อศาลในทางแพ่ง ในคดีก็จะมีกระบวนการพิสูจน์ว่าใครเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิดีกว่ากัน เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว หากว่าผู้ครองครองไม่มีสิทธิที่จะอยู่หรือไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ บุคคลดังกล่าวก็จะถูกกระบวนการบังคับคดีหลังมีคำพิพากษา มีการขอออกหมายบังคับคดีและออกคำบังคับคดีต่อไป หากไม่ยอมออกตามคำบังคับ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะรายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตนขอยืนยันว่า ไม่มีใครมีสิทธิที่จะพากลุ่มบุคคลไปขับไล่ผู้ครอบครองโดยพละการหรือกระทำการนอกกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญจะต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช้สิทธิเกินส่วนหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น การที่มีชายฉกรรจ์หลายคนเข้าไปในลักษณะนี้อาจเป็นการทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ก่อความเดือดร้อนรำคาญเป็นความผิดตามกฏหมายอาญาอื่นๆนอกจากข้อหาบุกรุกได้อีก

“โดยส่วนตัวในฐานะนักกฎหมายเห็นว่าวิธีการเช่นนี้ไม่ถูกต้องตามกฏหมายเพราะเป็นลักษณะการใช้กำลังคนเข้าไปโดยไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นตามกฏหมาย เมื่อคดียังมีข้อพิพาทหรือโต้แย้งสิทธิกันอยู่ ก็ต้องใช้กระบวนการทางศาลให้ถึงที่สุดจึงจะได้รับความคุ้มครองและคนในสังคมจะอยู่กันปกติสุข ใครกำลังมากกว่าก็ไปรังแกคนที่อ่อนแอกว่า ถ้าทำแบบนี้อาจเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีให้คนอื่นทำบ้าง สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย ในอดีตก็เคยมีเรื่องคดีที่มีการรื้อบาร์เบียร์ก็เป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว ในเรื่องนี้ผมไม่สามารถชี้ว่าใครจะผิดจะถูก ให้เป็นเรื่องของการสอบสวน ต้องดูเจตนาเพราะการกระทำมันเกิดขึ้นแล้วแต่อย่างน้อยดูด้วยว่า ผู้ที่กระทำเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะหรือเป็นข้าราชการ มีการศึกษาสูง ยิ่งจะต้องรู้มากกว่าวิญญูชนทั่วไปว่าการใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องใช้สิทธิทางศาล ใครมีสิทธิดีกว่ากันก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายเรื่องที่เกิดขึ้นผมไม่เห็นด้วยเพราะต่อไปอาจจะเกิดกรณีลอกเลียนแบบเป็นตัวอย่างได้”

ทั้งนี้ กรณีรื้อบาร์เบียร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2546 กลุ่มชายฉกรรจ์นับหลายร้อยคนบุกเข้าทำลายร้านบาร์เบียร์ 60 ร้านบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ บริเวณสุขุมวิทสแควร์ ซอยสุขุมวิท 10 โดยนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เป็นผู้สั่งการเพราะต้องการรื้อเเละขับไล่บาร์เบียร์ที่มาบุกรุกเเละไม่ยอมย้ายออกไปหลังจากนายชูวิทย์ซื้อที่ดินเเปลงนี้มาเเล้ว คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ 28 ม.ค.2559 ให้จำคุกนายชูวิทย์ เป็นเวลา 2 ปีไม่รอลงอาญา ฐานทำให้เสียทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ ในเวลากลางคืน ก่อนที่นายชูวิทย์ได้รับพระราชอภัยโทษในช่วงปลายปี 2559

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายว่าไม่ว่าใครจะมีกรรมสิทธิ อย่างไรก็แล้ว แต่ถ้าหากยังมีการเถียงกรรมสิทธิ์ได้ทำไม่ได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างการไปซื้อบ้านที่ขายทอดตลาดที่เราซื้อมาถูกต้องตามกฎหมายแต่ปรากฏว่ามีคนอยู่ในบ้าน เเต่เราไปล็อกประตูบ้านไม่ให้เข้าออก หรือเอากุญแจไปใส่ใหม่นั้นทำไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการที่เราได้ฟ้องบังคับคดีให้ผู้ครอบครองออกจากบ้านแล้วแต่ปรากฏว่ามีคนใหม่เข้ามาอยู่ในบ้านแต่มาอ้างสิทธิเราก็ต้องกระทำตามกฏหมายใหม่อีกครั้ง ตรงนี้ถือเป็นหลักกฏหมายจะไปกระทำการโดยพลการไม่ได้

คนมักไปเข้าใจผิดว่าการที่เราเป็นเจ้าของแต่เค้าไม่ยอมออกเราก็ไปจับเขาออกมาหรือเป็นที่ของเราที่เราชนะในศาลแล้วเราก็ต้องไปดำเนินคดีอีก แต่เราไม่สามารถจะทำการตามอำเภอใจได้ ตรงนี้เป็นหลักกฏหมาย จะมีการเข้าไปทำลักษณะดังกล่าวก็อาจจะผิดกฏหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพได้ แต่ต้องไปดูเจตนาที่แท้จริง แต่ไม่มีใครมีสิทธิที่จะไม่ทำตามกฏหมาย ใครทำก็อาจจะผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่ว่าผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้ กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เวลาเราขับไล่คน แล้วคนไม่ออกเราก็สามารถยื่นคำบังคับขอให้ศาลจับตัวไปขังไว้จนกว่าจะทำตามคำพิพากษา” ทนายวิญญัติระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น