MGR online - ศาลงดอ่านฎีกาคดี นปช.บุกบ้านสี่เสา “วีระกานต์-ณัฐวุฒิ-วิภูแถลง-เหวง” 4 แกนนำกลับลำ ยื่นคำให้การใหม่ ยอมรับผิด ส่งคืนศาลฎีกาพิจารณาอีกรอบ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 คดีดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ฟ้อง นายนพรุจ หรือ นพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ
ในวันนี้ นายนพรุจ จำเลยที่ 1, นายวีระกานต์ จำเลยที่ 4, นายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 5, นายวิภูแถลง จำเลยที่ 6 และ นพ.เหวง จำเลยที่ 7 เดินทางมาศาลพร้อมทนายความและบุคคลใกล้ชิดจำนวนมาก ส่วนจำเลยที่ 2-3 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องไปแล้ว
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณา ว่า จากที่ได้ประสานงานกัน ทราบว่า จำเลยมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน คดีนี้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ จำเลยและทนายความทำอย่างดีที่สุด ส่วนคำพิพากษาออกมาอย่างไรพร้อมน้อมรับ ไม่กังวลใจ เพราะสิ่งที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ประมุข ไม่ได้ประสงค์ให้เกิดความรุนแรงหรือเสียหายกับบุคคล สถานที่ หรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น มีความบริสุทธิ์ใจและเข้าสู่การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมตามที่ถูกกล่าวหา
เมื่อถามว่า กังวลใจหรือไม่หากต้องถูกจำคุกอาจจะกระทบอนาคตทางการเมือง นายณัฐวุฒิ บอกว่า กังวลกับอนาคตของประเทศมากกว่า ที่เราอยู่กันโดยไร้ซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง อยู่ในสภาพที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องกังวลร่วมกัน อนาคตการเมืองของตัวเองเป็นเรื่องเล็ก ไม่ว่าเราจะอยู่บนเวทีการเมืองหรือไม่ ก็จะมีผู้ร่วมอุดมการณ์คนใหม่ๆ ปรากฏตัวมาทำหน้าที่แสดงศักยภาพให้ทุกคนได้เห็นว่า ประชาชนที่รักประชาธิปไตยไม่ได้ผูกขาดคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัด ศาลอาญาแจ้งว่า ก่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูเเถลง และ นายแพทย์เหวง จำเลยที่ 4-7 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่เคยปฏิเสธ ความผิดขอต่อสู้คดี โดยได้ยื่นคำให้การใหม่ เป็นให้การเป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี
ศาลอาญาพิจารณาแล้ว ให้งดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีไว้ก่อนและเห็นควรส่งคำร้องของจำเลยที่ 4-7 และคำพิพากษาศาลฎีกา คืนให้ศาลฎีกาพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
ภายหลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า คดีนี้พวกตนจำเลยที่ 4-7 คน ยกเว้นเพียงนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ซึ่งเคยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาจนถึงชั้นศาลฎีกาก็ได้ปรึกษาหารือกันแล้วกับจำเลยทุกคนและทีมทนายความเห็นว่า เราจะกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกา โดยวันนี้ศาลชั้นต้นซึ่งนัดจำเลยทุกคนมาฟังคำพิพากษา จึงได้ส่งสำนวนคดีประกอบกับคำร้องกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ไปยังศาลฎีกา เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป หลังจากนี้ เป็นดุลพินิจของศาลฎีกาที่พิจารณาว่าจะมีคำพิพากษาอย่างไรและจะนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้ง
“การยื่นคำร้องกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจำเลย 4 คน คือ ผม นายวีระกานต์ นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง เห็นตรงกันว่า เราจะให้การรับสารภาพ ส่วนนายนพรุจยืนยันที่จะต่อสู้ไปตามกระบวนการเดิม เนื่องจากเห็นว่ามีประเด็นเรื่องใบรับรองแพทย์ ซึ่งใช้เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการตัดสินคดี ปรากฏว่า พบพิรุจว่าจะเป็นใบรับรองแพทย์ที่ตรงตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ในการใช้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ”
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญในคำร้องกลับคำให้การ คือ พวกผมได้กราบเรียนต่อศาลว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นปช.ตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหารเพื่อให้ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเราไม่เคยประสงค์ให้เกิดความรุนแรงเสียหายกับบุคคล องค์กร สถานที่หรือสถาบันใดๆ ในวันเกิดเหตุพวกผมเพียงต้องการเดินทางไปชุมนุมปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ แล้วก็จะเดินทางกลับตามเวลาที่ได้ตกลงกันไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งนำมาสู่การบาดเจ็บทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็รู้สึกเสียใจแล้วก็ได้แถลงในคำร้องว่าพวกผมได้สำนึกกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีความขัดแย้งเป็นการส่วนบุคคลกับ พล.อ.เปรม แต่อย่างใด นอกจากนี้ ท้ายคำร้องยังกราบเรียนต่อศาลว่า เมื่อพวกกระผมได้เสียใจและสำนึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก็ขอความเมตตาจากศาลได้พิจารณาลงโทษสถานเบา หากโทษนั้นยังคงเป็นการตัดสินจำคุกอยู่ ขอศาลได้โปรดพิจารณารอการลงโทษให้กับจำเลยด้วย
ด้าน นายนพรุจ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ยืนยันให้การปฏิเสธ เพราะว่าหลักฐานที่อัยการยื่นประกอบสำนวนคดีประมาณ 46-47 ลัง ไม่มีการนำสืบ รวมถึงใบรับรองแพทย์ 2 ใบ ในวันเกิดเหตุการณ์ตนถูกกล่าวหาว่ากระโดดลงจากหลังคารถยนต์ไปทับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวเสียหลักหกล้มมาทับมือตัวเอง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ใบรับรองแพทย์ไม่มีการสืบในศาลชั้นต้น ซึ่งเหตุนี้ทำให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้เพราะตนให้ความร่วมมือ ตนมีประเด็นข้อต่อสู้ ถ้าตนจะติดคุกก็ไม่เป็นไร พร้อมใช้กรรมเก่าจากอดีตชาติ น้อมรับคำพิพากษา เตรียมกระเป๋าเสื้อผ้ามาไว้ไปเป็นจิตอาสาในเรือนจำ ตนมีความจงรักภักดีสูงสุด เดินได้ทุกม็อบ เลิกแล้วเรื่องความแตกแยก ตนขอขมา พล.อ.เปรม ด้วยใจจริงตอนท่านมีชีวิตอยู่แล้ว และทำบุญให้ท่านทุกวันพระ ส่วนที่ทั้ง 4 คนถอนคำให้การนั้นตนก็ทราบ แต่ไม่ได้ใส่ใจ ส่วนตัวยังยืนยันให้การปฏิเสธ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมูลเหตุคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของพล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส
คดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ให้จำคุก นายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ริบของกลางทั้งหมด
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3