xs
xsm
sm
md
lg

3 องค์กรยุติธรรม ทำ MOU ออนไลน์เชื่อมโยงข้อมูลคดี เพื่อประโยชน์ในการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - ศาล-อัยการ-ตำรวจ ลงนาม MOU เชื่อมโยงข้อมูลคดีออนไลน์ 1 ต.ค.นี้ หวังเชื่อมข้อมูลออนไลน์ประโยชน์ยื่นฟ้องคดี-และพิจารณาคดีอาญาโดยรวดเร็ว

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วย นายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ รองอัยการสูงสุด และ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การเชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดีกระบวนการยุติธรรม โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาใช้ในการยื่นฟ้องคดีและพิจารณาคดีอาญา ตั้งแต่ชั้นตำรวจ , อัยการ , ศาล เพื่อลดระยะเวลาและความซ้ำซ้อนในการบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่และยังทำให้กระบวนการยื่นฟ้องคดีและการพิจารณาคดี พิพากษาคดีแล้วเสร็จด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ

โดยก่อนการลงนาม MOU เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 หน่วยงานได้สาธิตการบันทึกข้อมูลด้วย โดยสารบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ชื่อระบบ CRIMES ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลคดีส่วนของ สภ.-สน.ทั่วประเทศ 1,482 แห่ง , ของสำนักงานอัยการสูงสุดใช้ระบบชื่อ NSW และสารบบคดีของสำนักงานศาลยุติธรรม

ทั้งนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การพัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดีกระบวนการยุติธรรม เริ่มจากเมื่อมีการฟ้องคดี กับศาลแขวง หรือศาลจังหวัดที่มีอำนาจพิจารณาคดีศาลแขวงในคดีอาญา โดยเฉพาะคดีฟ้องด้วยวาจาเจ้าหน้าที่จะต้องบันทึกข้อมูลตั้งต้นที่อัยการโดยตำรวจนำมาฟ้องต่อศาล เช่น ข้อมูลฟ้องทั่วไป ข้อมูลจำเลย บันทึกการจับกุม ฯลฯ ทำให้ทำให้คดีที่ควรจะตัดสินได้อย่างรวดเร็วกลับต้องเสียเวลาในการรอการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ

สำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศึกษาการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในการยื่นฟ้องคดีและการพิจารณาคดีอาญา ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ ศาล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศจากระบบ CRIMES ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจสามารถบันทึกข้อมูลทางคดีเข้าสู่ระบบ และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบและฐานข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อที่อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง จากนั้นข้อมูลทางคดีจะถูกส่งต่อเข้ามายังระบบและฐานข้อมูลศาล ผ่านเทคโนโลยี Web Service และคำฟ้องของอัยการก็จะถูกส่งมายังศาล ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

“การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 3 หน่วยงานนี้ นอกจากจะลดระยะเวลาและความซ้ำซ้อนในการบันทึกข้อมูลแล้ว ยังทำให้กระบวนการยื่นฟ้องคดีและการพิจารณาคดี พิพากษาคดี แล้วเสร็จด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีทางอาญาที่ฟ้องด้วยวาจาซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษไม่สูง การเชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดีกระบวนการยุติธรรมโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการยื่นฟ้องคดีและพิจารณาคดีอาญา จะดำเนินการพร้อมกันในศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดและศาลแขวงทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดีและเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น เพื่อมุ่งสู่การบริการในลักษณะระบบศาลดิจิทัล (D-Court) ในปี พ.ศ.2563”

ด้าน นายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ระบบ Web Service ของอัยการไม่ใช่เพียงตัวที่ใช้บันทึกว่ามีคดีรับเข้ามา ข้อมูลชื่อผู้ต้องหารวมทั้งชื่อผู้เสียหาย ข้อหาอะไร แต่สิ่งที่เราได้จากสารบบคดีด้วยก็คือ ข้อมูลที่บันทึกเหล่านี้ เราสามารถไปพัฒนาต่อยอด รวบรวมเป็นสถิติคดี เช่น เราสามารถสร้างข้อมูลเป็นท็อปเท็น ว่าคดีที่เกิดขึ้นในทุกเขตศาลทั่วประเทศไทยเป็นข้อมูลสถิตออนไลน์แบบเรียลไทม์ ทั้งในระดับรายเดือนจนถึงรายปี เราจะสามารถทราบได้ว่าในหลายจังหวัดนั้นคดีที่เกิดสูงสุดขึ้น 10 อันดับแรกคืออะไรและยังสามารถแยกเป็นประเภทคดีได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราสามารถแยกได้ 63 ประเภท ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งในการป้องกันอาชญากรรมและวางแผนได้ว่าปัจจุบันคดีเกิดขึ้นเท่าไร โดยสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ว่า ณ วันนี้ท้องที่ของท่านมีคดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยประโยชน์เหล่านี้เป็นสิ่งที่สารบบคดีสามารถทำได้

นอกจากการรวบรวมประวัติคดีต่างๆ ของผู้ต้องหาที่จะใช้สืบค้นเพื่อมีการเพิ่มโทษเวลาที่ฟ้องคดี สิ่งเหล่านี้ตนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าแค่การลงข้อมูลในระบบ โดยทั้งระบบ CRIMES ของตำรวจ ระบบคดีของอัยการและระบบของศาลถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรม โดยตนก็เคยฝันถึงการสร้างระบบเช่นนี้มานานถึง 20 ปีเช่นกันและเมื่อวันนี้ทำได้ก็รู้สึกภูมิใจ ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติการปฏิรูปด้านต่างๆ 23 ด้าน

ขณะที่ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวขอบคุณทั้งศาลและอัยการเช่นเดียวกันซึ่งได้ริเริ่มสิ่งที่เป็นประโยชน์สื่อสารด้วยภาษาเดียวกันโดยเป้าหมายสุดท้ายก็เพื่อประโยชน์สูงสุดในการสร้างความยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชนด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบที่มีความถูกต้องและมีคุณภาพ ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลด้านคดีของทั้ง 3 หน่วยงานนี้ 1.จะเป็นการช่วยลดภาระของผู้ที่ต้องบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนกันเพราะเมื่อพนักงานสอบสวนกรอกข้อมูลลงในระบบ CRIMES แล้ว พนักงานอัยการที่รับคดีก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลส่วนเดียวกันนี้ได้ที่มีความถูกต้องเท่ากับว่าในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหานั้นทำแค่เพียงชั้นเดียวตั้งแต่ต้นโดยพนักงานสอบสวน

2.การเชื่อมโยงข้อมูลคดีที่ได้บันทึกนี้ยังจะเป็นการรีเช็คตรวจสอบข้อมูลถูกต้องซึ่งกันและกัน เช่น หากตำรวจกรอกข้อมูลแล้วมีบางส่วนเกิดผิดพลาด เมื่อพนักงานอัยการเห็นก็สามารถตรวจทานแก้ไขความถูกต้องได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ความสมบูรณ์ก็จะเกิดขึ้นกับประชาชน 3.ระบบ CRIMES ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เป็นเหมือนระบบกระดูกสันหลังของระบบไอทีตำรวจ ซึ่งระบบ CRIMES มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากมายซึ่งใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การสอบสวน ระบบสแกนใบหน้าของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ระบบแผนประทุษกรรม ระบบศูนย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 191 โดยการเชื่อมโยงเส้นทางหลักของระบบเน็ตเวิร์ก ลักษณะนี้ที่เรียกว่า BACKBONE เหมือนท่อใหญ่เชื่อมโยงข้อมูล ต่อไปอัยการจังหวัดทุกจังหวัด ศาลทุกแห่งสามารถใช้ท่อใหญ่ไปต่อท่อข้อมูลอื่นได้

ซึ่งวันนี้ระบบ CRIMES เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นทั้งกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงทั้งหมดเกือบ 27 หน่วยงานซึ่งมีแม้กระทั่งกระทรวงแรงงานและประกันสังคมด้วยต่อไปก็จะเหมือนการต่อถนนจากเมนหลัก 4.ยังเป็นจุดเริ่มต้นการเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานยุติธรรมอื่นๆเช่น ราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมบังคับคดีและหน่วยงานต่างๆของกระทรวงยุติธรรมด้วย 5.ส่งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ เราให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน โดยประชาชนสามารถตรวจขั้นตอน ตรวจความถูกต้องของคดี รวมทั้งตรวจความคืบหน้าของกระบวนการว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น