ศาลเบิกตัว“บุญทรง”จากเรือนจำฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ที่อัยการฟ้องผู้เกี่ยวข้อง 28 ราย
วันนี้ (6 ก.ย.) เวลา 11.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ตกเป็นจำเลยคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยนายนรินทร์ สมนึก ทนายความของนายบุญทรง เปิดเผยวานนี้ว่า ศาลจะเบิกตัวนายบุญทรงมาจากเรือนจำเพื่อร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
สำหรับคดีดังกล่าว มีการกล่าวหากลุ่มนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี และกลุ่มข้าราชการ รวมทั้งเอกชนประกอบกิจการโรงสีข้าว รวม 28 ราย ร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจีนั้น อัยการสูงสุด ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 ในคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 มีนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เป็นจำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุ กก.พิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2, พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5, นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยงหรือทีปวัชระ อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6, นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7, นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8, นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9, บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11, น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12, น.ส.สุทธิดาหรือสุธิดา ผลดี หรือ จันทะเอ จำเลยที่ 13, นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14, นายนิมล หรือ โจ รักดี จำเลยที่ 15, นายสุธี เชื่อมไธสง คนสนิทของ นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 16, นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร ญาติเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 17, นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18, นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19, บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20, น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร บุตรสาวเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 21, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22, นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23, บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดย นายทวี อาจสมรรถ กรรมการ จำเลยที่ 24, บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25, นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26, บริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 และ นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151, ม.157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123, 123/1 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 พร้อมขอให้ศาลสั่งปรับจำเลย รวม 35, 274, 611, 007 บาทด้วย ซึ่งคิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งในสัญญาระบายข้าวกว่า 5 ล้านตัน ที่พบว่า มีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับ โดย กม.ฮั้วประมูล ม.4 กำหนดให้ขอปรับได้ร้อยละ 50 จากมูลค่าตามสัญญา และให้กลุ่มเอกชนและบริษัทนิติบุคคล 15 ราย (จำเลยที่ 14-28) ร่วมกันชดใช้ความเสียหายทางแพ่งด้วยประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยด้วย
ขณะที่ระหว่างพิจารณา พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และนายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 คนสนิทของนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวรายสำคัญได้หลบหนีคดีไปศาล จึงให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว (ออกหมายจับรอติดตัวกลับมาดำเนินคดี) สุดท้ายชั้นพิจารณาจึงเหลือจำเลยทั้งสิ้น 26 ราย โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ซึ่งศาลให้ประกันจำเลยทั้งหมด โดยในส่วนของนายภูมิ อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1, บุญทรง อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 20 ล้านบาท ส่วนจำเลยอื่นศาลตีราคาประกันคนละ 5-8 ล้านบาท ซึ่งคดีศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 และอ่านคำพิพากษาขององค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 เห็นว่าข้อตกลงตามสัญญาให้ขายข้าวแก่บริษัท กว่างตง จำกัด และบริษัท ไห่หนาน จำกัด ที่อ้างว่าเป็นผู้แทนจากประเทศจีน 4 ฉบับ มีข้อพิรุธหลายประการ โดยบริษัทเอกชนที่อ้างว่าเป็นผู้แทนจากประเทศจีนนั้นก็ไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน เป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริงเท่านั้น พฤติการณ์จึงเป็นการจงใจปล่อยปละละเลย ซ่อนเร้นอำพรางปิดบังความจริงเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายข้าว เพื่อเอื้อประโยชน์เปิดช่องทางให้มีข้าวกลับมาหมุนเวียนขายในประเทศ ไม่ได้เป็นการทำการซื้อขายรัฐต่อรัฐ
จึงพิพากษาให้จำคุกนายภูมิ อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1 รวม 2 กระทง 36 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 ซึ่งเป็นบทหนักสุด, นายบุญทรง รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2 ให้จำคุกรวม 3 กระทง 42 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151
จำคุกคนละ 4 กระทง นายมนัส อดีต อธ.กรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 40 ปี, นายทิฆัมพร อดีตรอง อธ.กรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 32 ปี, นายอัครพงศ์ อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 24 ปี
นายอภิชาต หรือ เสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 จำคุก 48 ปี, นายนิมล หรือโจ คนสนิทเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 15 จำคุก 32 ปี ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ให้ปรับ บจก.สยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 รวม 4 กระทง เป็นเงิน 1 ล้านบาท และให้ บจก.สยามอินดิก้า, เสี่ยเปี๋ยง และนายนิมล ร่วมกันชดใช้กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ
ส่วนจำเลยที่ 7, 8, 9, 11, 12 ให้จำคุกคนละ 8-16 ปี ฐานสนับสนุนทำผิดพ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ กับให้จำคุก จำเลยที่ 13, 17, 18 เป็นเวลา 4 ปี ฐานสนับสนุนทำผิดตาม ป.อาญา มาตรา 151 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 123/1
ปรับ บจก.กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำเลยที่ 20 จำนวน 25,000 บาท และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร บุตรสาวเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 21 (ไม่มาศาลวันอ่านคำพิพากษา) จำนวน 40,000 บาท ฐานสนับสนุนทำผิดตาม ป.อาญา มาตรา 151 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 123/1 รวมทั้งให้ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายด้วยจำนวน 1,294,109,764.80 บาท
โดยให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 19 ซึ่งเป็นสามีของญาตินายอภิชาต และกลุ่มโรงสีกับผู้บริหารโรงสี จำเลยที่ 22, 23, 24, 25, 26, 27, 28 เนื่องจากพยานหลักฐานที่ไต่สวนมา ยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยทั้งแปดเกี่ยวข้องกับการกระทำ
สำหรับ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และนายสุธี คนสนิทของนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 16 หลังจากที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวไปเพราะจำเลยหนีคดี ก็ปรากฏว่าต่อมามี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ. 2560 ออกมาบังคับใช้ ให้อำนาจศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีที่ฟ้องและออกหมายจับจำเลยแล้วได้ใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย อัยการสูงสุดจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีของทั้งสองพิจารณาใหม่ โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 องค์คณะศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่าทั้งสองได้ร่วมกระทำผิดด้วย ให้จำคุก พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 รวม 4 กระทงเป็นเวลา 72 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วให้จำคุกทั้งสิ้น 50 ปี และนายสุธี คนสนิทของนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 16 จำคุก 4 กระทง เป็นเวลารวม 32 ปี และให้จำเลยที่ 16 ชดใช้ค่าเสียหายให้กับกระทรวงการคลังด้วยจำนวน 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันทำสัญญา
ขณะที่บรรยากาศโดยรอบอาคารศาลฎีกาวันนี้ มีการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและ รปภ.ของศาล กระจายอยู่โดยรอบ ซึ่งได้มีการนำแผงกั้นมาวางยาวตลอดแนวถนนประมาณ 300-400 เมตรฝั่งคลองหลอดด้านหลังศาล เพื่อเป็นพื้นที่ให้สำหรับสื่อมวลชนที่ติดตามมาถ่ายภาพทำข่าว โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปยังเข้าไปในบริเวณอาคารศาลและในห้องพิจารณาคดี ในส่วนของกลุ่มทนายความ ญาติจำเลยกับผู้ที่ติดตามที่จะเข้าร่วมฟังคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาคดีก็มีข้อปฏิบัติเข้มงวด
ขณะที่การอ่านคำพิพากษาวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ ใช้เวลานานพอสมควร จนถึงเวลา 18.50 น. ยังไม่แล้วเสร็จ
สำหรับการอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ของจีทูจีวันนี้ สืบเนื่องจากที่อัยการโจทก์ และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่ โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาฎีกาและผู้พิพากษาอาวุโสในชั้นฎีกา ที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลฎีกาจำนวน 9 คนที่ไม่เคยนั่งพิจารณาคดีจีทูจีมาก่อน มาเป็นองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์จะเลือกเป็นรายคดี