MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษารอลงอาญา “จิตตนาถ ลิ้มทองกุล” ลูกชาย “สนธิ” กับพวก คนละ 3 ปี ทำกิจการวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.1870/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล และนายพชร สมุทวณิช ผู้บริหารบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้บริการสาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
อัยการโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนกันยายน 2548 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยร่วมกันทำการบันทึกรายการภาพและเสียงหรือทำการถ่ายทอดสดรายการตามที่มีกำหนดไว้ในผังรายการ แล้วส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งเช่าจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อไปที่เกาะฮ่องกง ประเทศจีน จากนั้นมีการส่งสัญญาณภาพและเสียงต่อไปยังดาวเทียม NSS6 แล้วดาวเทียมส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงกลับมาที่ประเทศไทย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อดูรายการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 โดยเห็นว่าพยานโจทก์ที่นำมาเบิกความ รวม 4 ปาก ไม่มีพยานคนใดเบิกความให้ศาลเห็นว่าการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยการส่งภาพและเสียง กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พิพากษายกฟ้อง
ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ว่าคดีนี้โจทก์นำพยานมาเบิกความในชั้นศาลรวม 4 ปาก ไม่มีพยานคนใดเบิกความให้เห็นว่า การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยการส่งภาพและเสียงของจำเลยทั้งสามในขั้นตอนใดที่จะถือได้ว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498
แต่โจทก์มีคำให้การในชั้นสอบสวนของ นายอานนท์ ลอยกุลนันท์ เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ พยานโจทก์สรุปได้ความว่า สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ของจำเลยที่ 1 มีการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าสายเคเบิล จากบริษัท กสท และเป็นการส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงในประเทศไทย จากนั้นส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสายเคเบิลใต้น้ำจากประเทศไทย ไปที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน
จากนั้นส่งสัญญาณภาพและเสียงไปยังดาวเทียม NSS-6 และส่งสัญญาณจากดาวเทียวดังกล่าวกลับมายังประเทศไทย แม้คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟัง แต่ก็มิได้ห้ามโดยเด็ดขาด และเหตุที่โจทก์ไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าวมาเบิกความได้ เป็นเพราะอาการป่วยต้องให้ออกซิเจน อันเป็นเหตุจำเป็น เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 226/3(2) พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์ หรือประกอบกิจการโทรทัศน์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3, 5, 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสาม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท กับให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันๆ ละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2548 - 23 ม.ค. 2549
ต่อมาจำเลยที่ 1-3 ฎีกาสู้คดี
โดยวันนี้นายจิตตนาถ และพชร จำเลยที่ 2 และ 3 เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมทนายความ และนอกจากนี้น ายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเครือผู้จัดการ ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก็เดินทางมาให้กำลังใจลูกชายด้วย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3, 5, 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 นั้นเห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินการ ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่ในช่วงเวลาเกิดเหตุยังไม่มีการจัดตั้ง กสช.ขึ้น จึงไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกใบอนุญาตให้เอกชนรายใดดำเนินการได้ ดังนั้นพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก อีกทั้งจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่เคยกระทำความผิดแลไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 และ 3 โดยรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นควรลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และ 3 ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 90,000 บาท ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงปรับคนละ 60,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
"จิตตนาถ" ขอบคุณศาลให้ความเป็นธรรม พร้อมเดินหน้าสถานีวิทยุโทรทัศน์เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน คงจุดยืนต่อสู้เพื่อประชาชน ร่วมสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น
วันนี้ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1870/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล และนายพชร สมุทวณิช ผู้บริหารบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการสาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
ด้านนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือผู้จัดการ เปิดเผยหลังรับฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ในเรื่องของโทษและให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ซึ่งขอกราบขอบพระคุณในคำพิพากษาของศาล
ทั้งนี้ หลังจากมีการต่อสู้คดีมาเป็นเวลานาน ตัวเองก็เข้าใจแต่ละฝ่ายว่ามีมุมมองทั้งทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และภาคประชาชน ที่มีการเคลื่อนไหวและเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งก็เข้าใจและไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไรก็เคารพคำตัดสินของศาล
ส่วนการดำเนินกิจการของสถานีวิทยุโทรทัศน์เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน
ปัจจุบันได้ดำเนินกิจการภายใต้การอนุญาตของรัฐซึ่งก็คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่จะยังคงต่อสู้ในเรื่องของภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดำเนินมาและเราก็ต้องยืนหยัดในเรื่องนี้ต่อไป โดยหวังว่าจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ กับสังคมไทยขึ้นมาได้ในอนาคต