xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้อง 24 นปช.ก่อม็อบปี 53 ศาลชี้ไม่มีพยานโจทก์คนใดยืนยันความผิดก่อการร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - แกนนำ นปช.รอด ศาลพิพากษายกฟ้องคดีก่อการร้าย กรณีจัดชุมนุมใหญ่ปี 53 ระบุ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีพยานใดยืนยันเป็นความผิดก่อการร้าย หรือมีเจตนาพิเศษถึงขนาดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นแค่การชุมนุมทางการเมือง ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้พิจารณาความผิดเป็นรายๆ ไป

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช., นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี, นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี, นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา อายุ 67 ปี, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 61 ปี, นายนิสิต สินธุไพร อายุ 63 ปี, นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล อายุ 52 ปี, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 68 ปี, นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 59 ปี, นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ อายุ 43 ปี

นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล อายุ 48 ปี, นายอำนาจ อินทโชติ อายุ 63 ปี, นายชยุต ใหลเจริญ อายุ 46 ปี, นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง อายุ 57 ปี, นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 34 ปี, นายรชต หรือกบ วงค์ยอด, นายยงยุทธ ท้วมมี อายุ 63 ปี, นายอร่าม แสงอรุณ อายุ 58 ปี, นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อายุ 38 ปี, นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง อายุ 58 ปี, นายสมพงษ์ หรือแขก บางชม, นายอริสมันต์ หรือ กี้ร์ พงศ์เรืองรอง อายุ 55 ปี ทั้งหมดเป็นแกนนำ, การ์ด และแนวร่วม นปช. เรียงตามลำดับเป็นจำเลยที่ 1-24

ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย มาตรา 135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ส่วนนายยศวริศ จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 358 และนายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้าสั่งการฯ มาตรา 215 และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก มาตรา 216 ทั้งหมดตามประมวลกฎหมายอาญา

คำฟ้องโจทก์ระบุกรณีพวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่า นายอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯ โดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบริเวณแยกราชประสงค์ นอกจากนั้น ยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ด้วย มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธเพื่อการก่อการร้าย

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ ลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กับห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

สำหรับคดีนี้ อัยการทยอยยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำ นปช. เป็นชุดๆ 4 สำนวน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2553 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553, อ.4339/2553, อ.757/2554, อ.4958/2554 จนครบ 24 คน และมีการรวมพิจารณาคดีเดียวกัน ซึ่งใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและสืบพยานบุคคลมานานร่วม 9 ปี โดยระหว่างการสืบพยานศาลจะพิจารณานัดพร้อมเป็นระยะๆ เพื่อร่วมกำหนดกรอบประเด็นสืบและระยะเวลาสืบพยาน เนื่องจากทั้งโจทก์-จำเลย ต่างเสนอขอสืบพยานนับร้อยปาก โดยทำการสืบพยานต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มสืบพยานโจทก์ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2555 และเริ่มสืบพยานจำเลยปี 2562 กระทั่งได้นัดฟังคำพิพากษาวันนี้ (14 ส.ค. 2562)

วันนี้ นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายจตุพร, นพ.เหวง แกนนำและแนวร่วม นปช. ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน ยกเว้น นายสมบัติ มากทอง จำเลยที่ 16 เสียชีวิต กับนายสุรชัย เทวรัตน์ จำเลยที่ 17 หลบหนี พร้อมเบิกตัว นายสมพงษ์ บังชม จำเลยที่ 23 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังคำพิพากษา นอกจากนี้ ยังมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช., นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. พร้อมทีมทนายความ และประชาชนนับสิบกว่าคนที่เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่ม นปช. ร่วมฟังคำพิพากษา ขณะที่ทางศาลมีตำรวจจาก สน.พหลโยธิน และเจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์ทมาแชล) เข้าร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลและภายในห้องพิจารณาคดี

ก่อนฟังคำพิพากษา นายจตุพร ประธาน นปช.กล่าวว่า ตลอดเวลา 9 ปี ที่ผ่านมา พวกตนทุกคนได้ทำหน้าที่ในการต่อสู้คดี กฎหมายของไทยเป็นกฎหมายลักษณะกล่าวหาตั้งแต่ขั้นตอนของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ อัยการ และศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย วันนี้พวกตนทำได้แค่เตรียมหัวใจ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไรก็จะน้อมรับคำตัดสินของศาล ตอนนี้มีข้อหาเดียว คือ ก่อการร้าย ซึ่งก็มีอัตราโทษเดียวเท่านั้นคือประหารชีวิต ไม่มีโทษเป็นอย่างอื่น ไม่มีโทษจำคุก เพราะฉะนั้นวันนี้ก็คือ ตายกับไม่ตายเท่านั้น นี้ก็คือโลกของความเป็นจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำ นปช.และจำเลยอื่นๆ ได้เตรียมความพร้อมที่จะฟังคำพิพากษาอย่างไรบ้าง นายจตุพร กล่าวว่า ขั้นตอนมันเลยมาหมดแล้ว สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการเตรียมหัวใจอย่างมีสติ เพราะว่าอัตราโทษอย่างที่บอก คือ ประหารชีวิต และพร้อมน้อมรับชะตากรรม เชื่อว่าในวันนี้จำเลยจะมาศาลครบทุกคน แต่สมมติว่ามากันไม่ครบ ตนก็จะร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่มาศาลในวันนี้ฟัง ส่วนจำเลยที่ไม่มาก็ให้ฟังคำพิพากษาในภายหลัง แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าจำเลยจะมาครบทุกคน

เมื่อถามว่าหากศาลมีคำพิพากษาจำคุกหรือประหารชีวิต จะใช้สิทธิประกันตัวหรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า ตนเองยังไม่ทราบว่าศาลจะตัดสินอย่างไร รอให้ถึงขั้นตอนนั้น และรอฟังผลที่ชัดเจนเสียก่อนว่าผลลัพธ์ออกมาอย่างไร ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีใครรู้ หลังจากนั้น จึงรู้ว่าจะทำอย่างไร แต่คดีนี้มี 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ จำเลยยังสามารถยื่นอุทธรณ์ ฎีกา ได้

ด้าน นายณัฐวุฒิ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า การสู้คดีเราก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ แสดงต่อศาลอย่างครบถ้วน หลายประเด็นปรากฏชัดในขั้นตอนพิจารณาคดี ว่ารัฐบาลขณะนั้นจงใจที่จะสร้างข้อมูลหลักฐานที่ผ่านการปรุงแต่ง เพื่อให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งแกนนำ นปช.ได้แสดงหลักฐานต่อศาล ขณะเดียวกัน ฝ่ายพยานโจทก์ขึ้นเบิกความ ก็พบว่ายังไม่ได้ระบุตัวตนของคนกระทำความผิด ส่วนใหญ่เป็นการให้ปากคำในภาพรวมของสถานการณ์ความเคลื่อนไหว ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีหรือคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรก็เคารพน้อมรับ เพราะตลอดเวลาที่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง พวกตนก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด

เมื่อถามว่า มีความมั่นใจในพยานหลักฐานหรือไม่เพียงใด นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เราเชื่อมั่นในความจริง ยืนยันมาตลอดว่าเจตนาในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของ นปช. ในปี 2553 เรามีข้อเรียกร้องเดียว คือ รัฐบาลขณะนั้นยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานที่สุดตามระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ก่อนที่กำลังเจ้าหน้าที่จะเข้ามาขอคืนพื้นที่ ก็ไม่ปรากฏความสูญเสีย การปะทะใดๆ ระหว่างประชาชนผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานการณ์เลยแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียในวันที่ 10 เม.ย. 2553 ความรุนแรงก็ขยายไปเรื่อยๆ จนมีการประกาศเขตกระสุนจริง เกิดการต่อสู้กันราวกับสงครามกลางเมือง เพื่อสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.
2553

เมื่อถามว่า มีความกังวลในข้อกล่าวหาก่อการร้ายที่มีโทษประหารชีวิตหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกว่าข้อกล่าวหานี้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่อย่างใด การก่อการร้ายต้องมีเจตนาเฉพาะที่ปรากฏ เช่น สร้างเหตุการณ์ลุกลามบานปลายให้เป็นความรุนแรง แต่ของเราไม่มี เรามีเจตนาชัดเจนชุมนุมเรียกร้องการยุบสภาเท่านั้น แม้ข้อกล่าวหาโทษสูงสุดประหารชีวิต แต่เรายังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของพวกเราในการต่อสู้ หากคำพิพากษาเป็นผลลบ ก็เตรียมเรื่องหลักประกัน ต่อสู้คดีศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป ไม่ว่าจะออกมาแบบไหนทุกอย่างก็ต้องเดินไปข้างหน้า

เมื่อถามถึงข้อหาอื่นเช่นข้อหามั่วสุมชุมนุม ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการถอนฟ้องไปหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เข้าใจว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอและอัยการมุ่งเน้นข้อหาก่อการร้าย อาจเป็นเพราะในเหตุการณ์สูญเสียของประชาชนจำนวนมาก การตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย เพื่ออธิบายความสูญเสียดังกล่าวหรือไม่ ว่าการชุมนุมมีกองกำลังที่จะมาทำร้ายประชาชนเพื่อสร้างสถานการณ์ อย่างที่รัฐบาลขณะนั้นพูดเรื่องชายชุดดำฆ่าและทำร้ายกันเอง เมื่อข้อกล่าวหาของพวกเราไปถึงขนาดนั้น คดีจึงไปไกลถึงข้อหาก่อการร้าย แต่เรายืนยันว่า เรามีความบริสุทธิ์ใจ เชื่อมั่นในความจริงที่ปรากฏ

ต่อมา ศาลอ่านคำพิพากษา พิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานก่อการร้าย จะต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) ถึง (3) คือ ต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

จากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่เข้ามาเบิกความยืนยันว่า มีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่ม นปช. ได้ทำการปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) ถึง (3) แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่า ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่า การชุมนุมของ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่า เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. การเดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคม ก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล ชาเเนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไป

ก่อนหน้านั้น ชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด และไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้น ทั้งๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมาก จึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงที การที่แกนนำกลุ่ม นปช. ปราศรัยบนเวทีที่ว่า หากทหารออกมาสลายการชุมนุม หรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้มีการเผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด การวางเพลิงเผาทรัพย์เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค. 2553 ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ไว้เป็นที่สุด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8132/2561 ว่ามิใช่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ และปฏิเสธเข้ามาดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กับพวก ซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา การดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ กับพวก จึงมิใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม นปช. เพราะแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ประกาศจุดยืนมาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จึงอาจมีบุคคลผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ ให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นได้

การที่ นายยศวริศ จำเลยที่ 7 กับพวกขัดขวางการลำเลียงกำลังพลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แล้วยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนบริเวณเวทีปราศรัย และต่อมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนไปหมดแล้ว การกระทำดังกล่าวมิได้ประสงค์เอาแก่ตัวทรัพย์เพื่อเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์และทำลายทรัพย์สินของทางราชการบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 7 นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนแล้ว ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 7 เดินทางกลับไปอีก กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย

โจทก์ฟ้องคดีนี้รวม 5 สำนวน ขอให้ลงโทษฐานก่อการร้าย โดยบรรยายฟ้องถึงลักษณะการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิด และไม่ได้ขอให้ลงโทษในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ มาด้วย จึงถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าว เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะนายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ในความผิดฐานต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบความผิดมานั้น ฟังได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 24 กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยา กรณีพาพวกไปขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียน และศาลจังหวัดพัทยา มีคำพิพากษาแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

แม้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และต่อมาศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในท้องที่ดังกล่าว การออกประกาศเช่นว่านั้น ก็เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ซึ่งได้ร่วมชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วหลายวัน แต่ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว ไม่ได้ความจากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่า แกนนำกลุ่ม นปช.ได้จัดการชุมนุมที่อื่นใดอีก นอกเหนือจากสถานที่ที่มีการชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-15 และจำเลยที่ 18-24 จึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว นายจตุพร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า ระยะเวลา 9 ปี ที่ผ่านมานั้น วันนี้ไม่ใช่วันที่พวกเราจะต้องมาดีใจ เพราะว่ายังมีเรื่องราวรออยู่ข้างหน้าเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดพวกเราทุกคนขอกราบขอบพระคุณศาลที่ให้ความเมตตา พิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ขอบคุณพี่น้องประชาชนและญาติวีรชนและผู้สูญสิ้นอิสรภาพมากมาย วันนี้ไม่ได้เป็นวันที่ยุติ เพราะยังมีพวกเราจำนวนมากที่ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ กำลังต่อสู้คดีอยู่ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด ผลคำพิพากษาของศาลอยากให้ผู้ที่ได้รับอานิสงส์ควรจะเป็นญาติวีรชนที่ได้ต่อสู้บาดเจ็บล้มตาย รวมกระทั่งผู้สูญสิ้นอิสรภาพมากมาย ส่วนพวกตนทุกคนยังจะต้องเดินหน้าต่อสู้คดี อีกทั้งคดีก่อการร้ายยังต้องมีขั้นตอนอุทธรณ์และฎีกา นอกจากนี้ยังต่อสู้คดีอื่นๆ อีกหลายคดี จึงต้องขอบคุณศาล ทีมทนายความ นปช. และพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาศาลตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

ด้าน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อย่างที่เคยเรียนไว้แล้ว เรามั่นใจในข้อเท็จจริงและบริสุทธิ์ใจที่จะพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรม ว่า การต่อสู้และการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป้าหมายเดียวของเราภายใต้หลักการสันติวิธี ไม่มีกองกำลังอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง เมื่อกระบวนการพิจารณาคดีมาถึงวันนี้ ก็ต้องบอกว่านี้ไม่ใช่ชัยชนะใดๆ ของพวกตน ไม่ใช่ชัยชนะต่อฝ่ายโจทก์ที่เป็นผู้ฟ้องร้อง ไม่ได้เป็นชัยชนะต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่เป็นกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยมีศาลวินิจฉัยและมีคำพิพากษา

“สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ สำหรับผมคิดว่าเป็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้ ถ้าผมสามารถจะส่งข้อความนี้ถึงคนที่บาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์ดังกล่าว ก็อยากจะบอกว่าพี่ เพื่อนและน้องครับ วันนี้ศาลท่านชี้แล้วว่าพวกเราไม่ใช่ขบวนการก่อการร้าย วันนี้ศาลท่านชี้แล้ว ความสูญเสีย เลือดของพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์ทุกคน ไม่ได้เป็นเพราะพี่น้องเป็นผู้ก่อการร้ายเลย ถูกเขายิงจนเจ็บจนตาย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องหลักการประชาธิปไตย ภายใต้ข้อเรียกร้องในสถานการณ์นั้น ก็คือการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่”

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่พวกตนกับฝ่ายกฎหมายจะต้องเตรียมพร้อมไว้ สำหรับคดีความอื่นๆ มีอีกหลายคดีที่เราจะต้องต่อสู้กันต่อไป และอยากจะบอกกล่าวไปถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นคู่กรณีโดยตรงจากการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่าเราไม่ถือแพ้ชนะกันในคดีนี้ หรือชนะกันที่ใครเจ็บ ใครตายมากกว่า ชัยชนะถ้าจะมีจากการต่อสู้ทางการเมือง ต้องเป็นชัยชนะร่วมกันของสังคมไทย ดังนั้นชัยชนะของ นปช.ยังมาไม่ถึง จะมาถึงก็ต่อเมื่อเราปกครองโดยหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น

“ผมยังจำความรู้สึกวันที่ 10 เม.ย. 2553 ได้แม่นยำทุกวินาที ทั้งความสูญเสียที่เกิดขึ้น และผมเจรจากับเลขาฯ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติสถานการณ์ หลังเวทีมีผู้ชุมนุมมากมายวิ่งมาร้องไห้กับผม เพราะญาติพี่น้อง เพื่อนญาติสนิทและครอบครัวบาดเจ็บ เสียชีวิตและสูญหาย ปกเสื้อผมยังเปียกน้ำตาประชาชน แล้วน้ำตาที่เปียกเสื้อซึมเข้าไปในใจ” นายณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้าย















กำลังโหลดความคิดเห็น