“ถ้าพวกเราไม่ยืนขึ้นจะเห็นแต่คนของเขา ถ้าพวกเรายืนขึ้นทั้งหมดจะเห็นแต่กลุ่มของเรา...การช่วยเหลือเจือจุนกัน การเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก” นายหนูจร พุดพา ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวยืนยันถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ที่เกิดจากความร่วมมือกันของคนในพื้นที่โดยมีกองทุนแม่ของแผ่นดินเป็นศูนย์รวมจิตใจ ภายใต้การดำเนินงานของ “คณะกรรมการเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี” ด้วยมีพื้นที่ติดกับแนวชายแดนทำให้อำเภอน้ำยืนมีปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังยาเสพติดเป็นอันดับต้นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ที่สุดด้วยพลังแห่งความรัก ความสามัคคีของชาวบ้านในพื้นที่ได้สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายที่จะร่วมกันต่อสู้กับปัญหายาเสพติด จนในที่สุดที่นี่ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ภาคประชาชนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดต้นแบบจังหวัดอุบลราชธานี ของสํานักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 3
คณะกรรมการเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินของอําเภอน้ำยืน ก่อเกิดมาจากหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านบุเปือยเป็นศูนย์กลางหลักในการขับเคลื่อนการดําเนินงานภาคประชาชนทุกมิติ ซึ่งจุดเด่นคือ แกนนําที่มีศักยภาพและมีความเข้มแข็ง จิตอาสาทํางานเพื่อชุมชน สามารถประสานเชื่อมโยงการทํางานกับภาคี เครือข่ายในเชิงบูรณาการ จนทําให้การทํางานของคณะกรรมการทุกภาคีเครือข่ายกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับ คณะกรรมการเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน คณะกรรมการเครือข่ายภาคประชาชน คณะกรรมการเครือข่าย ศูนย์การเรียนรู้ภาคประชาชนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชน ร่วมกัน จัดวางกลไกการทํางาน และการต่อยอดพัฒนาขยายเครือข่ายได้อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อน งานในเชิงบูรณาการเครือข่าย เน้นการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชนและหมู่บ้านตามแนวชายแดน การขยาย เครือข่ายและต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านได้อย่างสอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ อาชีพ และประเพณีวัฒนธรรมในท้องถิ่น ก่อเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ตามแนวพระราชดําริเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเครือข่าย กองทุนแม่ของแผ่นดินอําเภอน้ำยืน มีพื้นที่ดําเนินงานครอบคลุมทั้งหมด 7 ตําบล 28 หมู่บ้าน ในส่วนที่เหลือ อีก 74 หมู่บ้านที่ยังไม่เป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ได้ดําเนินการขยายต่อยอดเตรียมเป็นต้นกล้าโดยให้จัดตั้งเป็นกองทุนยาเสพติดทุกหมู่บ้าน
“กองทุนแม่ของแผ่นดิน” เป็นพระราชทรัพย์พระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยต่อปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในสังคมไทย เมื่อปี พ.ศ.2546 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ผ่านเลขาธิการ ป.ป.ส.โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้นำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ต่อมา ปี 2547 สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้นำพระราชทรัพย์ดังกล่าวสบทบกับงบประมาณของสำนักงาน ป.ป.ส. จัดตั้งเป็น "กองทุนแม่ของแผ่นดิน”เพื่อมอบเงินกองทุนให้แก่หมู่บ้าน ชุมชน โดยมีเป้าหมายที่จะสานร้อยพลังศรัทธาและสามัคคีของประชาชนเป็นเครือข่ายที่ร่วมกันสร้างความดีงามสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงต้องการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ให้พ้นจากภัยร้ายของยาเสพติดอย่างยั่งยืน
เมื่อหมู่บ้าน ชุมชนได้รับเงินขวัญถุงพระราชทานถือว่าได้รับเงินศักดิ์สิทธิ์มาสู่หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาพื้นฐานของหมู่บ้าน ชุมชน ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้หมู่บ้าน/ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว โดยที่แต่ละหมู่บ้าน ชุมชนจะมีการขยายให้กองทุนงอกเงยมากขึ้นและแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยศรัทธาและปัญญาของคนในหมู่บ้าน ชุมชนที่จะช่วยกันคิดหาวิธีการกันขึ้นมา ด้วยแนวทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา ปัญญา และสันติวิธี
กว่า 15 ปีของการขับเคลื่อนดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกองทุนแม่ของแผ่นดินได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ มาเป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือของคนในชาติ ก่อเกิดเครือข่ายสมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดินทั่วประเทศ ที่ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านชุมชนของตนให้มีความเข้มแข็ง สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพให้ประชาชนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ฟื้นฟูวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสร้างชุมชนให้มีความน่าอยู่ซึ่งกองทุนแม่ของแผ่นดินแต่ละแห่งมิได้ดำเนินการโดดเดี่ยวเพียงลำพัง หากแต่หลอมรวมเป็นเครือข่ายแห่งความดีที่เข้มแข็ง
โครงการมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดินได้จัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2562 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดการจัดมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “กองทุนแม่ของแผ่นดิน จากหมู่บ้านสู่เครือข่ายแห่งความดีงาม” ในวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี และมีการจัดนิทรรศการมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยจัดแสดงผลงานของเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านการระดมความร่วมมือ
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านพระนั่งดิน หมู่ที่ 7 ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดพังงา
2. ด้านการสร้างเสริมปัญญา
- เครือข่ายวิทยกรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ปปส.ภาค 1
- เครือข่ายทายาทชุมชนเข้มแข็งกองทุนแม่ของแผ่นดินเยาวชนวัยใส พ้นภัยยาเสพติด
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดตรัง
3. ด้านการพัฒนาชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหายาเสพติด
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดนครสวรรค์
- เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนกองขยะหนองแขม กรุงเทพมหานคร
สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม มุ่งเน้นเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดินในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และเป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยระดมพลังของประชาชนผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ที่จะสร้างการรับรู้ถึงผลงานของกองทุนแม่ของแผ่นดิน สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของคนในสังคมที่จะร่วมกันช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และสานต่อการทำงานในการจัดการกับปัญหายาเสพติดในชุมชนให้ได้อย่างยั่งยืน