xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง 4 กปปส.ข้อหากบฏสำนวนแรก ชี้ไม่ใช่แกนนำสั่งการ ชุมนุมตาม รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง “สกลธี-สนธิญาณ-อ.สมบัติ-อ.เสรี” 4 กปปส. พ้นข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ระบุ พยานหลักฐานที่อัยการสืบฟังได้ว่าเป็นแค่ผู้ร่วมชุมนุม ไม่ได้เป็นแกนนำสั่งการ และการชุมนุมเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพตาม รธน.



วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.30 น. ศาลอ่านพิพากษาคดีชุมนุม กปปส.สำนวนแรก ที่รวมพิจารณาคดีหมายเลขดำ อ.1191/2557 , อ.1298/2557 , อ.1328/2557 ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม” อายุ 57 ปี หนึ่งในผู้บริหารสื่อเครือเนชั่นกรุ๊ป , “นายสกลธี ภัททิยกุล” อายุ 42 ปี อดีต ส.ส.กทม. ร่วมชุมนุม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. , “นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อายุ 68 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) , “นายเสรี วงศ์มณฑา” อายุ 70 ปี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ , กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ , อั้งยี่ , ซ่องโจร , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ , เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล , ร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง , ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มา ซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76 ,152 รวม 8 ข้อหา

โดยคดีสำนวนแรกนี้ อัยการยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2557 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2556 จนถึงวันฟ้อง (เดือน พ.ค.2557) ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ฟ้องกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้มั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและเกินกว่า 10 คนสมคบกันเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร ซึ่งร่วมกันและแบ่งหน้าที่กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ โดยมีการจัดตั้งเป็นคณะบุคคลชื่อ “ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.” ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณประกาศตัวเป็นเลขาธิการ กปปส. โดยจำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกและเป็นกรรมการผู้มีหน้าที่สั่งการ ร่วมกันปลุกระดม ยุยง ชักชวนให้ประชาชน เข้าร่วมการชุมนุมและร่วมกิจกรรมในการก่อความไม่สงบ มุ่งขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งดำเนินการคัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไม่ให้มีนายกรัฐมนตรี และครม.ชุดใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยปราศรัยชักชวนประชาชนให้ออกมาขับไล่รัฐบาล อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ บุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีการใช้กำลังขัดขวางต่อสู้ทำร้ายร่างกาย โดยวันที่ 16 ม.ค. 2557 เวลากลางคืน ได้มีการจัดตั้งสะสมกองกำลังอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏ และประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์ 500 คน เพื่อทำการขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และจับตัวรัฐมนตรีคนอื่นๆ บีบบังคำให้ลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งจัดตั้งศาลประชาชนขึ้นพิจารณาลงโทษและริบยึดทรัพย์ อันเป็นการล้มล้างอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ นอกจากนี้วันที่ 13 ม.ค. - 2 มี.ค.2557 จำเลย , นายสุเทพ พร้อมพวก ยังได้ปิด กทม. มีการตั้งเวทีปราศรัย 7 แห่ง ปิดกั้นการจราจรและได้ยึดครองไม่ให้ประชาชนใช้เส้นทางดังกล่าว โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต รัฐบาลมอบหมายให้ศูนย์รักษาความสงบและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกคำสั่ง ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้จำเลยและพวก เลิกชุมนุมและบุกรุกสถานที่ราชการ หยุดปิดกั้นการจราจร แต่จำเลยกับพวกไม่เลิกกระทำการดังกล่าว เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ขณะที่ท้ายคำฟ้องอัยการ ไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยแต่อย่างใด

ขณะที่จำเลยทั้ง 4 รายให้การปฏิเสธทุกข้อหาพร้อมตั้งทนายความสู้คดี ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยทั้งสี่ก็ได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งคดีเริ่มสืบพยานตั้งแต่ปี 2558-2562

และวันนี้ จำเลยทั้ง 4 มาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา โดยมี “นายสุเทพ” อดีตเลขาธิการ กปปส. , กลุ่มแกนนำ กปปส. ที่ถูกฟ้องอีกสำนวน และพระพุทธอิสระที่วันนี้ห่มจีวรนั่งรถเข็นมา รวมทั้งคนใกล้ชิด มาร่วมให้กำลังใจในการฟังคำพิพากษาด้วย

โดย “นายสุเทพ” อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่เดินทางมาให้กำลังใจ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งพวกเราถูกฟ้องเนื่องจากการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมและรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557 จำเลยชุดแรกมีจำนวน 4 คน คือ นายสนธิญาณ , นายสกลธี, นายสมบัติ และ นายเสรี ซึ่งอัยการยื่นฟ้องคดีก่อน ก็แยกเป็นคนละสำนวนคดีกับที่ฟ้องพวกตนอีก 30 กว่าคน และคดีนี้ได้ต่อสู้คดีกันมานานกว่า 4 ปีแล้วในฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์ ตนจึงเดินทางมาเป็นกำลังใจให้แกนนำทั้ง 4 คน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบแล้ว เห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแม้ฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายสนธิญาณ จำเลยที่ 1 , นายสกลธี จำเลยที่ 2 และ นายเสรี ที่ 4 เป็นแกนนำเคยพากลุ่มผู้ชุมนุมไปสถานที่ต่างๆ และมีเหตุการณ์นำโซ่คล้องประตู ล็อคกุญแจ ตัดไฟฟ้า ปิดล้อมยังสถานที่ต่างๆตามฟ้อง หรือขัดขวางเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

แต่กลับปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์อีกว่า จำเลยทั้งสี่ไม่เคยปราศรัยในลักษณะเป็นผู้สั่งการ หรือร่วมกับผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการใดๆ ที่เป็นความผิดอาญาตามฟ้อง การที่มีเหตุการณ์ใช้โซ่คล้องประตู ล็อคกุญแจ ตัดไฟฟ้า ปิดล้อมยังสถานที่ต่างๆตามฟ้อง หรือขัดขวางเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นการกระทำที่ถือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มบุคคลที่กระทำการนั้นๆ โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย

ประกอบกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 54/2556 , ที่ 58/2556 , ที่ 59/2556 และที่ 21/2557 ก็มีคำวินิจฉัยว่า การที่กลุ่มของนายสุเทพ และ กปปส. ออกมาชุมนุมคัดค้านเป็นการชุมนุมของประชาชนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน โดยมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม , ความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จึงเป็นการใช้สิทธิขอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 61 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ให้การรับรองไว้ การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จึงเป็นการประชุมทางการเมือง อันเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสี่ เช่นเดียวกับประชาชนที่มาเข้าร่วมกับการชุมนุมกับจำเลยทั้งสี่ ถือเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่มีความเห็นตรงกันทางการเมือง ย่อมมีสิทธิที่จะมาร่วมชุมนุมกันได้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การชุมนุมเพื่อการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังฟังคำพิพากษา “นายสกลธี ภัททิยกุล” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่สนับสนุน ส่วนจำเลยทั้ง 4 คนก็รู้สึกดีใจเพราะเราต่อสู้คดีขึ้นศาลมาเกือบ 5 ปีและค่อนข้างลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันพอสมควร แต่ว่าสิ่งที่พวกเราทุกคนยึดถือเหมือนกันคือเคารพกระบวนการยุติธรรม โดยมาศาลทุกครั้งไม่เคยขาด เมื่อใครเดินทางไปต่างประเทศก็กลับมาตามกำหนดนัดทุกครั้ง คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลมองว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในช่วงปี 2556-2557 เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้ด้วยค่อนข้างชัดเจนแล้ว ประกอบกับการเดินทางไปชุมนุมตามในที่ต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็เป็นไปโดยสงบ อหิงสาและสันติ ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลท่านมองเห็นและวินิจฉัยในวันนี้

ขณะที่ นายสุเทพ ซึ่งวันนี้เดินทางมาให้กำลังใจ กปปส. ชุดแรก ก็กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการ กปปส.ได้ร่วมกันต่อสู้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศนั้น ตนมีความรู้สึกกังวลในการต่อสู้คดีมาโดยตลอด เพราะว่าจำเลยทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำ บ้างก็เป็นอาจารย์หรือทำงานด้านสื่อมวลชน แต่ว่าทุกคนก็ต่อสู้คดีด้วยความเด็ดเดี่ยว ยืนหยัดที่จะนำความจริง ข้อเท็จจริงทั้งหลายมาพิสูจน์กันในศาลยุติธรรม ท่ามกลางความเป็นห่วงของมวลมหาประชาชน กปปส.ทั้งหลาย ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดี คิดว่าคงจะทำให้พี่น้องประชาชนที่รักชาติรักแผ่นดินมีความสุขใจขึ้น ได้เห็นว่าสิ่งที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่อบ้านเมืองแม้จะต้องเหนื่อยยากลำบาก และได้รับผลกระทบจากที่ร่วมชุมนุมมานาน 4-5 ปีนั้น วันนี้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามระบบ และเป็นสิ่งที่พวกเราประชาชนคนไทยช่วยกันดูแลรักษากันต่อไป

เมื่อถามว่าคำพิพากษาจะเป็นแนวทางให้กับ กปปส.ชุดใหญ่ที่คดีอยู่ในกระบวนการศาลหรือไม่

“นายสุเทพ” กล่าวว่า เป็นเรื่องของการต่อสู้คดีของ แกนนำ กปปส.ชุดใหญ่ เห็นว่าศาลชั้นต้นจะต่อสู้คดีในแนวทางไหน ซึ่งศาลอาญาได้อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยไว้หลายครั้งหลายหนในปี 2556-2557 แต่ว่าหากการกระทำของผู้ชุมนุมใด เป็นความผิดกฎหมายอาญาอื่นก็ต้องรับผิดไป อย่างไรก็ตามหลังจากนี้เราจะได้นำคำพิพากษาฉบับเต็มมาศึกษาต่อไปด้วย

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดี กปปส. ชุดแรกดังกล่าว คณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบการดำเนินคดี ของสำนักงานคดีพิเศษได้รายงานผลคดีให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษและนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ทราบแล้ว ขั้นตอนกฎหมายต่อจากนี้คณะทำงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี จะดำเนินการขอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มพร้อมถ้อยคำสำนวนศาล จากนั้นก็จะเสนอคำพิพากษาพร้อมสำนวนและความเห็นว่าควรอุทธรณ์หรือไม่ไปยังอธิบดีอัยการศาลสูงเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนของคดีการชุมนุม กปปส. ที่ยังอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ (ชุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. รวม 32 ราย) และผู้ต้องหาที่เหลืออีก 14 รายซึ่งร่วมชุมนุมกับ กปปส. ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งตัวฟ้องนั้นต้องถือเป็นเหตุลักษณะคดีกับคดีที่ยกฟ้องในครั้งนี้ซึ่งขณะนี้ถือว่าคำสั่งฟ้องและการดำเนินคดียังมีผลตามกฎหมายทุกประการ แต่เมื่อทั้งหมดเป็นเหตุลักษณะคดีดังกล่าวก็คงต้องรอผลการพิจารณาของอธิบดีอัยการศาลสูงและคณะทำงานของสำนักงานคดีพิเศษก่อน













กำลังโหลดความคิดเห็น