xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : คดี "ธนาธร" มีสิทธิ์ป่วน ตุลาการ รธน.หายไป 1

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562 ตอน คดี "ธนาธร" มีสิทธิ์ป่วน ตุลาการ รธน.หายไป 1



คดีดังการเมืองหลายคดี ก็อยู่ในสารบบการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญมากมาย และยังมีที่จะส่งมาอีกเพียบ

คดีที่อยู่ในสารบบแล้ว ก็มีเช่น  คดีถือครองหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่น่าจะรู้ผลกันไม่เกินกันยายนนี้ รวมถึงคดีถือครองหุ้นสื่อของส.ส.ฝ่ายรัฐบาล

ที่มีรัฐมนตรีสี่คนโดนศาลสั่งให้ทำเอกสารชี้แจงอาทิเช่น ณัฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เป็นต้น

เรื่องคดีในศาลรัฐธรรมนูญ แม้แต่ตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอง ก็มีคดีถูกร้องเรื่อง การเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในช่วงเลือกตั้ง ตอนนี้ศาลรับคำร้องไว้แล้ว

รวมถึง ชะตากรรมของพรรคส้มหวาน อนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดียุบพรรคอนาคตใหม่ไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา   

ลิสต์คดีดังที่ว่ามา หากสุดท้าย ศาลรธน.วินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา โดยเฉพาะในทางลบ กับผู้ถูกร้อง ย่อมจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองตามมาแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ กสรดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะตัวบุคคลที่จะมาเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองแบบเสร็จเด็ดขาด

โดยระหว่างนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะต้องมีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน  5 คนมาแทน ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่ง เพราะอยู่ครบวาระตาม พรบ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๖๑

และมีการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนาย ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธา ได้วินิจฉัยให้ต้องเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนห้าคน มาแทน  ตุลาการศาลรธน.ที่จะพ้นจากตำแหน่ง

ประกอบด้วย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  จรัญ ภักดีธนากุล ชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ  บุญส่ง กุลบุปผา และ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี 

สำหรับกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรธน.5คน ที่ถือว่า เป็นเสียงข้างมาก  เพราะจะมีด้วยกัน  9 คน
5 เสียง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางคดีให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง

ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจสมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จาก 3ส่วนสำคัญ ตามกฎหมายคือ ศาลฎีกา –ศาลปกครองสูงสุดและผ่านคณะกรรมการสรรหาฯ 

ในส่วนของศาลฎีกาและกรรมการสรรหาฯเวลานี้ การรับสมัครเสร็จสิ้นลงแล้ว เหลือขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติและรอวันนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกาและกรรมการสรรหา เพื่อลงมติลับ เลือกและส่งชื่อให้วุฒิสภา เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยห้าตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่ จะแยกเป็น มาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา  3  คน และมาจากกรรมการสรรหา  1 คน ที่จะเป็นสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ รวมถึงจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด อีกหนึ่งคน

ที่มีการคาดการณ์กันว่า กระบวนการต่างๆ น่าจะเสร็จสิ้นจนได้รายชื่อ ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ในช่วงปลายเดือนกันยายน

แต่ทว่า กระบวนการที่กำลังเดินไปเริ่มติดขัด เพราะในส่วนของการเลือกตุลาการศาลรธน.จากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด พบว่านับแต่เปิดรับสมัคร ให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด แจ้งความจำนงขอให้ที่ประชุมใหญ่เลือกและส่งชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อให้โหวตเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ปรากฏว่า จากจำนวน ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีอยู่ร่วม 46 คน แต่ที่มีสเปกตรงตามรัฐธรรมนูญ ที่จะสมัครได้คือต้องเป็น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสิบกว่าคน   

และ ไม่มีใครแจ้งความจำนง ขอสมัครคัดเลือกแม้แต่คนเดียว

จนทำให้สุดท้าย ศาลปกครองสูงสุดเลยต้องใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้ช่องทางตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 200 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า

“กรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจประกาศลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ปีมิได้”

ซึ่งก็ยังไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้ว กรรมการสรรหาฯ ที่มีชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

อีกทั้ง หากสุดท้าย กรรมการสรรหา ดำเนินการตามที่ศาลปกครองสูงสุดแทงเรื่องมา จนลดสเปก ลดเวลาให้ตามที่ขอมา ยังต้องดูว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่จะมีสเปกเข้าเงื่อนไขดังกล่าว จะมีใครสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรธน.หรือไม่

หากไม่มีคนสมัครใจจากศาลปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีแค่8คน ซึ่งก็สามารถทำหน้าที่ได้ ไม่มีปํญหาอะไร

แต่ด้วยการเป็น เลขคู่ ทำให้เวลาลงมติต่างๆ ที่ต้องใช้เสียงข้างมาก หากผลการออกเสียง ออกมาเป็น  4ต่อ 4 ก็จะเกิดเดทล็อก ไม่สามารถหามติเสียงข้างมากได้

อย่างกรณี คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรับคำร้องด้วยคะแนนเสียง  5 ต่อ 4 แล้วถ้า วันนั้น มีตุลาการศาลรธน.แค่ 8 คน ผลจะออกมาอย่างไร  การวินิจฉัยคดีของศาลรธน.ติดขัดไม่เด็ดขาดหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น