MGR online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ สั่งอุตสาหกรรมการบินชดใช้เงินเยียวยา “ครอบครัวน้องโยโย่” นรต.ฝึกกระโดดร่มไม่กางเสียชีวิต จาก 2.7 ล้าน เป็น 4.8 ล้านบาท ชี้บกพร่องต้องรับผิดเต็มจำนวน ขณะที่พ้อคดีอาญาตำรวจสรุปสำนวนมาถึงอัยการปีครึ่งแล้วแต่คดีไม่คืบ
วันนี้ (18 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 611 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. ศาลอ่านพิพากษาอุทธรณ์ คดี พ.250/2559 ที่นายสาธร พุทธชัยยงค์ อายุ 57 ปี บิดาของนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือโยโย่ อายุ 19 ปี ที่ฝึกกระโดดร่มแล้วไม่กาง จนเสียชีวิต ที่ จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2557 เป็นโจทก์ที่ 1 และบิดา-มารดาของ นรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข หรือฟิวส์ อายุ 21 ปี ที่เสียชีวิตอีกคน เป็นโจทก์ที่ 2-3 ร่วมกันยื่นฟ้อง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท อุตสาหกรรมการบินจำกัด , พล.อ.อ.วีรนันท์ หาญสวธา กก.ผจก.บจก.อุตสาหกรรมการบิน , ร.ต.กณพ อยู่สุข ผู้จัดการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ลพบุรี , พันจ่าอากาศเอก ( พ.อ.อ.)สมชาย อำภา ช่างซ่อมอากาศยานผู้ทำการติดตั้งสายสลิง , จ.อ.กีรติ สุริโย ช่างซ่อมอากาศยาน ผู้ทำการติดตั้งสายสลิง , จ.อ.รัชเดช เถาว์เพ็ง ช่างเทคนิคผู้ทำการติดตั้งสายสลิง
ร.ท.สมเจต สวัสดิรักษา ผู้จัดการแผนกตรวจรอยร้าวโดยไม่ทำลาย ผู้จัดหาและประสานงานจัดหาสายสลิงดัดแปลง , นายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม ผู้ประสานงานและสั่งให้มีการจัดหาสายสลิงนำมาดัดแปลง , นายสุพร ธนบดี ผู้จัดการกองซ่อมบำรุงอากาศยานตำรวจ บมจ. การบินไทย และพนักงาน บมจ.การบินไทย เป็นจำเลยที่ 1-11 เรื่องละเมิด โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเนื่องจากสายสลิงที่ใช้ในการกระตุกร่มหลักขาดหลุดออกจากปลอกรัด ทำให้สายสลิงกระตุกร่มหลักไม่กลาง เป็นเหตุให้ นรต.ชยากร และ นรต.ณัฐวุฒิ ที่ฝึกกระโดนร่มถึงแก่ความตาย จึงขอให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหาย 49,550,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าจัดการศพ และค่าขาดไร้อุปการะ ในส่วนของ นรต.ชยากร และในส่วนของ นรต.ณัฐวุฒิ เรียกค่าเสียหายรวม 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคดียื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2559
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2560 เห็นว่า "บจก.อุตสาหกรรมการบิน" จำเลยที่ 2 และ นายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ" นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ซึ่งตามสัญญาในการซ่อมบำรุงจะต้องทำหน้าที่ประสานหาแหล่งที่ซื้อสายสลิงด้วย โดยนายวัชรพงษ์ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ที่มีหน้าที่ประสานงานและจัดหาสายสลิง ได้เลือกซื้อสายสลิงของสไปก้า ซึ่งภายหลังพบว่าไม่ได้มาตรฐานและไม่มีคุณภาพ โดยจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการที่ทำให้เกิดการละเมิดแล้ว ดังนั้นจำเลยที่ 2 ,9 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายสาธร โจทก์ที่ 1 บิดาของ นรต.ชยากร ส่วนฟ้องโจทก์ที่ 2-3 และจำเลยอื่นยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเมื่อพบความบกพร่องได้มีการแจ้งจำเลยเป็นลำดับชั้นแล้ว กระทั่งมีการแจ้งสายสลิงมีโอกาสชำรุดจากการใช้งานและเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคในการฝึกกระโดดร่มหรือการปฏิบัติการทางอากาศ จึงได้แจ้งซ่อมบำรุง โดยมีการจัดหาสายสลิงใหม่มาติดตั้ง ซึ่งการติดตั้งจำเลยที่ 1 , 5-7 , 10 ได้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องรับผิด
ต่อมาโจทก์ที่ 1-3 และจำเลยที่ 2,9 ได้ยื่นอุทธรณ์ โดยวันนี้เมื่อถึงเวลา "นายสาธร พุทธชัยยงค์" บิดานรต.ชยากร พุทธชัย โจทก์ที่ 1 ได้เดินทางมาที่ศาล มีผู้รับมอบอำนาจจากทนายมาศาลด้วย ขณะที่ครอบครัวของ นรต. โจทก์ที่ 2-3 และพี่สาว ก็เดินทางฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายด้วย
ขณะที่่ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ค่าปลงศพที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ 270,000 บาท น้อยเกินไป จึงให้เพิ่ม 320,000 บาท เนื่องจากในการจัดการงานศพเป็นพระราชทานเพลิงศพและยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจำเลยที่ 2, 9 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมเต็มจำนวน ส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่จะต้องชดใช้ให้โจทก์ที่ 1 นั้นเมื่อได้พิจารณาจากการวุฒิศึกษาของผู้เสียชีวิตและรายได้ที่จะมีในอนาคตแล้วเห็นว่าที่กำหนดไว้ 2.5 ล้านบาท นั้นยังน้อยเกินไป โดยเห็นสมควรเพิ่มให้เป็นเดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี รวมเป็นเงิน 4.5 ล้านบาท
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ "บจก.อุตสาหกรรมการบิน" จำเลยที่ 2 และนายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ" นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ร่วมกันชดใช้ค่าจัดการศพรวมทั้งค่าขาดอุปการะให้กับนายสาธร บิดา นรต.ชยากร โจทก์ที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 4.82 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง 21 ม.ค.2559 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งชำระค่าทนายความแทนโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท
ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 2- 3 ซึ่งเป็นบิดา-มารดาของนรต. ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข ในส่วน บมจ.การบินไทย พนักงานการบินไทยนั้น พิพากษายืนให้ยกฟ้อง เช่นเดียวกับยกฟ้องจำเลยที่ 1 ,3 -8,10-11 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา
ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว นายสาธร" บิดาของนรต.ชยากร ให้สัมภาษณ์ว่า ผลพิพากษาในศาลชั้นต้นให้จำเลยชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ 2.5 ล้านบาท บวกกับค่าปลงศพ 270,000 บาท แต่ที่ตนอุทธรณ์เพราะในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีข้อความว่า นรต.ชยากร บุตรชายของตนมีส่วนให้เกิดเหตุร้าย ไม่ดึงร่มช่วย ซึ่งตนอยู่ในที่เกิดเหตุตนเห็นแล้วว่าบุตรชายของตนได้ดึงร่มช่วย ร่มกางแผ่อยู่กับพื้น ตนจึงอุทธรณ์ประเด็นนี้ บุตรชายตนไม่มีส่วนร่วมให้เกิดเหตุร้าย ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแล้วว่าบุตรชายของตนดึงร่มช่วยจากข้อมูลที่เราอุทธรณ์ไป ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงเพิ่มค่าขาดไร้อุปการะเป็น 4.5 ล้านบาท และค่าปลงศพเป็น 320,000 บาท รวมเป็น 4,820,000 บาท
ส่วนจะมีประเด็นติดใจให้ฎีกาต่อหรือไม่นั้น นายสาธร กล่าวว่า คดีแพ่งไม่ใช่คดีหลักของตน คดีหลักของตนคือคดีอาญา ตนให้น้ำหนักกับคดีอาญามากกว่า คดีแพ่งอยู่ที่จำเลยฎีกาหรือไม่ ถ้าจำเลยฎีกาก็ต้องแก้ฎีกาต่อไป แต่ในส่วนของตนแล้วไม่มีความประสงค์คดีแพ่งเป็นหลัก เพราะคดีอาญาเท่านั้นที่จะทำให้คนเลิกทุจริตได้ คดีแพ่งไม่ทำให้คนเลิกทุจริตได้
เมื่อถามถึงความคืบหน้าคดีอาญา นายสาธร กล่าวว่า คดีอาญาได้ผ่านจากตำรวจภูธรภาค 7 มานานแล้ว ตั้งแต่เดือน ม.ค.2561 ตอนนี้ ก.ค.2562 แล้ว ตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด คดีอาญาสำนวนอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดมาปีครึ่งแล้ว แต่คดียังไม่ถูกนำขึ้นสู่ศาล
ด้าน นายจตุรงค์ ติรสุวรรณสุข บิดาของ นรต.ณัฐวุฒิ หรือฟิวส์ โจทก์ที่ 2 เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาฟังการอุทธรณ์นั้น เป็นส่วนที่ฟ้องบริษัทการบินไทย จำเลยที่ 1 และพนักงานการบินไทย จำเลยที่ 10 ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง โดยทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายืนให้ยกฟ้อง แต่ตนยังติดใจว่าบริษัทการบินไทยซึ่งเป็นคู่สัญญารับรู้รับทราบในการซ่อมอุปกรณ์กระโดดร่ม หากได้ท้วงติงแต่แรกอาจไม่เกิดความสูญเสีย โดยก่อนหน้านี้คดีในศาลปกครองศาลได้ชี้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติละเมิดอย่างร้ายแรงแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย และคดีแพ่งนี้จำเลยที่ 2 และ 9 ก็รับผิดได้ชดใช้เงินเยียวยาให้ครอบครัวตน 5 ล้าน แต่คดีในส่วนของการบินไทยกลับไม่พบความผิด ซึ่งถือเป็นบริษัทใหญ่ที่มีหลักธรรมาภิบาล แต่ที่ผ่านมาไม่ได้แสดงความช่วยเหลือต่อครอบครัว ในการเป็นคดีกับบริษัทใหญ่เราก็ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่เราต้องการความยุติธรรมก็ต้องเรียกร้องด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสียลูกชาย การต้องฟ้องคดีมาขึ้นศาลบ่อยๆ ก็ท้อ อย่างคดีอาญาที่เราเคยสอบถามความคืบหน้าของผลก็โยนกันไปมาระหว่างตำรวจกับอัยการ