รถพ่วงบรรทุกรถยนต์กลับรถบนสะพานกลับรถหน้าสถานีทุ่งสองห้อง ชนคานสะพานสกายวอล์กกีดขวางการจราจร ตำรวจปิดทางขึ้นจุดกลับดังกล่าวให้ไปใช้จุดกลับรถที่แยกหลักสี่แทน
เมื่อเวลา 23.00 น วันที่ 17 ก.ค. ร.ต.อ.สาคร กันภัย รอง สว.(สอบสวน) สน.วิภาวดี ไปสอบสวนเหตุรถบรรทุกพ่วงบรรทุกรถยนต์ชนคานสะพานสกายวอล์กหน้าสถานีรถไฟฟ้า (สายสีแดง) ทุ่งสองห้อง บริเวณสะพานกลับรถถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งตรงข้ามบริษัท ยาคูลท์ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่
ที่เกิดเหตุอยู่บนถนนวิภาวดี ขาออก ฝั่งตรงข้ามบริษัท ยาคูลท์ พบรถบรรทุกพ่วงยี่ห้อฮีโน่ สีขาว ทะเบียน 60-1389 กรุงเทพมหานคร ส่วนพ่วง ทะเบียน 60-2584 กรุงเทพมหานคร ของบริษัท วิฮีเคิล จำกัด บรรทุกรถยนต์มา 5 คัน ชนเข้ากับคานสะพานสกายวอล์ก สถานีทุ่งสองห้อง ทำให้รถยนต์ รถกระบะฟอร์ดเรนเจอร์ที่บรรทุกมา ด้านหน้าพังเสียหาย พลิกหงายท้อง ลงมาทับรถกระบะฟอร์ดอีกคัน รวมเสียหาย 2 คัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้ทำการปิดทางขึ้นจุดกลับให้ไปใช้จุดกลับรถที่แยกหลักสี่แทน
จากนั้นเจ้าหน้าที่ใช้รถยก ยกเอารถกระบะ Ford Ranger ป้ายแดงที่ได้รับความเสียหายทั้ง 2 คันลงมาไว้บนถนน ก่อนจะเคลื่อนตัวขึ้นรถบรรทุกพ่วงออกจากพื้นผิวการจราจร ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง ถึงสามารถเคลียร์เส้นทางได้
นายสุพรรณ แซ่ลี้ ผู้ขับขี่ กล่าวว่า ตนขับรถบรรทุกรถยนต์กระบะยี่ห้อฟอร์ดมา 5 คัน และรถฟอร์ด รุ่นเอเวอเรสต์ 1 คัน เพื่อมาส่งให้ลูกค้า ขับมาจาก อ.ปลวกแดง จ.ระยอง แต่ไม่ชำนาญเส้นทางทำให้หลงทางมาลงในถนนวิภาวดีฯ และกำลังจะหาจุดกลับรถ ขณะกำลังจะขึ้นสะพานได้ไปชนกับคานสะพานทางเดินข้าม ทำให้รถกระบะที่บรรทุกมาส่วนหน้าด้านบนชนคานสะพานทางเดินข้ามไปสถานีรถไฟไฟ้า ทำให้รถที่บรรทุกมาด้านบนรถพ่วงชนเสียงดัง และมีเศษกระจกแตกตกลงมาบนพื้นถนนจึงรีบจอดรถลงมาดู
เบื้องต้นจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า บริเวณจุดเกิดเหตุ เป็นถนนวิภาวดีขาออก ก่อนทางขึ้นทางกลับรถฝั่งตรงข้ามบริษัทยาคูลท์ มีการก่อสร้างสกายวอล์กทางเดินข้ามไปสถานีรถไฟฟ้าทุ่งสองห้อง ฝั่งตรงข้ามกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งมีความสูงเพียง 4.5 เมตร เพิ่งสร้างเสร็จยังไม่ได้ใช้งาน ทำให้รถบรรทุกรถยนต์ที่บรรทุกรถยนต์มาด้านบน ส่วนของตัวรถยนต์ที่เกินออกมาชนเข้ากับคานสะพานได้รับความเสียหาย เบื้องต้นทางบริษัทรถพ่วงมีประกันรถยนต์เข้ามาดูแลรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด รวมทั้งจะประสานรถไฟฟ้าถึงค่าเสียหายของการสกายวอล์ก และความสูงที่ลดลงมา หาแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อน