xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : “ไสลเกษ”จ่อประมุขศาล เปิดตัวเต็งตุลาการ รธน.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2562 ตอน “ไสลเกษ”จ่อประมุขศาล เปิดตัวเต็งตุลาการ รธน.



มาที่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีนี้ เริ่มที่ศาลยุติธรรมก่อนเป็นที่แรก ที่คาดว่าการแต่งตั้งจะเสร็จเร็วก่อนหน่วยงานของรัฐสายอื่น และปีนี้มีความน่าสนใจมาก

เนื่องจากประธานศาลฎีกา นายชีพ จุลมนต์พร้อมกับนาง อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานศาลอุทธรณ์ อายุครบ65 ปี ต้องลงไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส

เท่ากับประมุขสองศาลจะลงจากตำแหน่ง เปิดทางให้มีการแต่งตั้งในตำแหน่งบริหารสูงสุดสองเก้าอี้ในศาลยุติธรรม

นอกจากสองเก้าอี้ประธานเบอร์หนึ่งและสองของศาลยุติธรรมแล้ว ยังมีผู้ครองตำแหน่งบริหารที่ต้องลงไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสอีกหลายคน คือ นายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ,น.ส. บุญมี ฐิตะศิริ สองรองประธานศาลฎีกา

ยังมี คนดังอย่าง นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลาย , นายอดิศักดิ์ ปัตรวลี ประธานแผนกคดีเยาวชน ในศาลฎีกา และปีนี้ นายโอภาส อนันตสมบูรณ์ อดีบดีศาลแพ่ง ก็อายุครบ 65 ปีต้องพ้นจากตำแหน่งไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสด้วย

ขณะนี้บัญชีการแต่งตั้งของผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา กับตำแหน่งเทียบเท่าคือตำแหน่งประธานแผนกคดีต่างๆในศาลฎีกา จัดทำเสร็จแล้ว และได้ออกเผยแพร่ไปแล้ว เพื่อให้เป็นที่รับรู้และตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับการเสนอ

ตามบัญชีแต่งตั้งที่จัดทำโดยสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าประธานศาลฎีกาคนต่อไป ได้แก่นาย ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ขึ้นจากรองประธานศาลฎีกา คนที่1

ซึ่งตามนิติประเพณีในศาลยุติธรรม หากมีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ผู้ที่มีสิทธิ์อันดับหนึ่งที่จะขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา จะเป็นประธานศาลอุทธรณ์ แต่ปีนี้ประธานศาลอุทธรณ์อายุครบ65 ปี ต้องลงจากตำแหน่งบริหาร อาวุโสลำดับถัดมาจึงเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่1 จะได้ขึ้นเป็นประมุขศาลฎีกาแทน

ครั้งนี้อาจจะเหมือนสองปีที่แล้ว ที่นายชีพ จุลมนต์ ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา โดยมาจากรองประธานศาลฎีกา คนที่1 ขณะที่ตอนนั้นประธานศาลอุทธรณ์ คือนายศิริชัย วัฒนโยธิน เป็นผู้มีสิทธิ์เป็นประธานศาลฎีกาตามนิติประเพณี ที่ยังเหลืออายุราชการอีกหนึ่งปี

แต่มีอุบัติเหตุกับนายศิริชัย โดยอนุกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม หรืออนุกต. มีมติคัดค้านนายศิริชัย 19/1 และ กต. มีมติ14/0 จนทำให้นายศิริชัยไม่ได้เป็นประมุขศาล แล้วยังตัดสินใจลาออกไม่ยอมรับตำแหน่งที่ปรึกษประธานศาลฎีกา ที่ได้รับการเสนอให้ด้วย

ปีนี้ หากไม่มีรายการพลิกล็อก นายไสลเกษ ได้เป็นประธานศาลฎีกาหลังวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ก็เท่ากับสองประธานศาลฎีกาคนที่ 44 กับคนที่ 45 เป็นผู้ที่มาจากรองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 เหมือนกัน

ส่วนตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ บัญชีแต่งตั้งระบุเป็น นาย วิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกาคนที่2 ซึ่งนายวิชัยจะอยู่ในตำแหน่งปีเดียว เช่นเดียวกับนายไสลเกษ ดังนั้นปีหน้าก็จะมีการแต่งตั้ง เบอร์1 และ2 ของศาลยุติธรรมอีกครั้ง

การประชุมพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสุดของศาลยุติธรรม กำหนดไว้เป็นวันที่31 กรกฎาคม และในวันถัดไปคือวันที่1 สิงหาคม ก็มีกำหนดการประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อลงมติเลือกตัวแทนจากศาลยุติธรรมไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เนื่องจาก 5 ใน9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน จะพ้นวาระไปตามกฎหมาย หลังจากได้รับการต่ออายุจากคำสั่งม. 44 จนอยู่ในตำแหน่งยาวนานร่วม11ปี ส่วนการเลือกตุลาการห้าคนชุดใหม่ กฎหมายกำหนดว่า จะต้องได้ตัวมาภายในเดือนตุลาคมนี้

ตุลาการห้าคนที่ต้องพ้นไป คือมีนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ,นายชัช ชลวร ,นายจรัญ ภักดีธนากุล,นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

สัดส่วนจากห้าคน ที่จะเข้ามาใหม่เป็นโควต้าสายศาลยุติธรรม3 คน สายศาลปกครอง1คน อีก1คนมาจากสายกรรมการสรรหา ซึ่งสายนี้มีคนสมัครมากถึง7 คน มีคนดังอย่างนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายธนฤกษ์ นิติเศรณี อดีตประธานศาลอุทธรณ์

ส่วนในสายศาลยุติธรรม แม้ว่ามีโควต้ามากแต่มีคนสมัครแค่ 6 คน และมีเพียงนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เพียงคนเดียวที่อยู่ในตำแหน่งหลัก คือเป็นประธานแผนกคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกา

คาดกันว่า โอกาสที่นายอุดมจะได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมาก ถึงมากที่สุด เนื่องจากเป็นความลงตัวอย่างพอดี เพราะคู่แข่งล้วนเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เลือกไปแล้วก็จบกัน ส่วนถ้าใส่คะแนนให้นายอุดม ผู้พิพากษาทั้งศาลมีเฮกันต่ออีกหนึ่งช็อต

คือถ้านายอุดมได้เป็นหนึ่งในตัวแทนสายศาลยุติธรรมไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นโบนัสให้ผู้พิพากษาได้เลื่อนตำแหน่งอีกหนึ่งสาย ได้ขยับกันตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น จนถึงตำแหน่งประธานแผนก

แต้มต่อจากผลพลอยได้นี้ ทำให้เส้นทางไปสู่การเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายอุดม สดใส ชัดเจนกว่าคนอื่น และเป็นชื่อที่ต้องแปะติดข้างฝาไว้เป็นคนแรก


กำลังโหลดความคิดเห็น