MGR Online - อธิบดีกรมราชทัณฑ์แจง 8 ประเด็น เสียงวิจารณ์ในเรือนจำ ยันยังจำเป็นต้องมีเครื่องพันธนาการป้องกันการหลบหนี อาหารมีเพียงพอกับผู้ต้องขังใน 3 มื้อ รับแพทย์-พยาบาลมีไม่สมดุลจำนวนผู้ต้องโทษ อาจทำให้การรับบริการไม่ดีบ้าง
วันนี้ (6 ก.ค.) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากการเสวนาเรื่องการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ โดยสถาบันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 62 มีการถ่ายทอดประสบการณ์ในเรือนจำด้านต่างๆ ของผู้เข้าร่วมเสวนาและได้กล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำซึ่งกรมราชทัณฑ์ขอชี้แจงข้อเสวนาดังกล่าว 8 ประเด็น คือ
1. การใช้เครื่องพันธนาการและชุดผู้ต้องขัง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 62 (3) และมาตรา 62 (4) ให้อำนาจเจ้าพนักงานใช้เครื่องพันธนาการในกรณีผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่น่าจะหลบหนีการควบคุมและเมื่อผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวออกนอกเรือนจำ หากมีการก่อเหตุหลบหนีเจ้าหน้าที่ย่อมจะมีความผิดทางอาญาต้องได้รับโทษ ตลอดจนประชาชนย่อมได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังมีกรณียกเว้น คือ ไม่ต้องใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี ผู้ต้องขังหญิง หรือผู้ต้องขังซึ่งเจ็บป่วยอันเป็นไปตามหลักสากล
2. อาหารในเรือนจำเป็นระบบผูกขาด กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่าได้จัดสรรอาหารให้แก่ผู้ต้องขังเพียงพอ ครบ 3 มื้อ โดยได้มีการปรับปรุงรสชาติให้เป็นกลางเพื่อทุกคน แต่ทางเรือนจำก็ได้จัดให้มีการปรุงอาหารจำหน่ายไว้บริการเสริมด้วย 3. การกล่าวว่านักโทษบางคนไม่อยากพ้นโทษเพราะมีรายได้ดีในเรือนจำนั้น การดำเนินชีวิตภายในเรือนจำอาจไม่ต่างจากสังคมภายนอกที่ต้องปรับตัวเพื่อการดำเนินชีวิต การอยู่ร่วมกันของผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การดูแลกันอาจจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการตกลงระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง
4. การจัดเลี้ยงวันเกิดภายในเรือนจำ ระเบียบของเรือนจำไม่เคยมีการอนุญาตให้ผู้ต้องขังจัดเลี้ยงวันเกิด แต่จากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการลักลอบปฏิบัติโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นเพื่อบริจาคเลี้ยงอาหารผู้ต้องขัง โดยแอบอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการและการสงเคราะห์ผู้ต้องขังในเรือนจำ
5. กรณีการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง การเข้าถึงแพทย์และยารักษาโรค เรือนจำทุกแห่งจะมีแพทย์เข้าทำการรักษาผู้ต้องขังเป็นประจำ และพยาบาลวิชาชีพประจำสถานพยาบาลทุกแห่งเพื่อให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ต้องขังแต่ด้วยอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ไม่สมดุลกับจำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่จำนวนมาก อาจทำให้ไม่ได้รับการบริการที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ
6. การปิดประตูเรือนนอน เวลา 15.30 น. โดยการปิดประตูเรือนนอนในช่วงก่อนเวลาพลบค่ำ เป็นการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังก่อเหตุแหกหักหลบหนีหรือก่อความวุ่นวายโดยอาศัยทัศนวิสัยในเวลากลางคืน ดังนั้น การปิดประตูเรือนนอนให้ล่าช้ากว่าเวลาปัจจุบัน จึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบการควบคุมผู้ต้องขังและเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
7. การเสนอให้มีคุกนักโทษการเมือง คุกยาเสพติด หรือคุกสำหรับผู้สูงอายุนั้น ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีเรือนจำในความรับผิดชอบ 143 แห่ง และมีผู้ต้องขังในความควบคุมดูแลเกือบ 400,000 คน โดยได้กำหนดประเภทของเรือนจำ สำหรับการควบคุมและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะด้านอยู่แล้ว ทั้งนี้ การพิจารณาสร้างเรือนจำเฉพาะทางเพิ่มเติมกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ย่อมต้องพิจารณาถึงความจำเป็นสูงสุด ตลอดจนประโยชน์ที่มีต่อสังคมและประชาชนผู้เสียภาษีเพราะต้องเกี่ยวข้องกับงบประมาณการก่อสร้าง ซึ่งเฉพาะอาคารสถานที่จะต้องใช้งบประมาณกว่า 850 - 1,500 ล้านบาท อุปกรณ์เทคโนโลยีเสริมความมั่นคงและการควบคุม เช่น ระบบกล้องวงจรปิด เครื่องเอ็กซเรย์ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ทั้งยังต้องเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้พอเพียงต่อการควบคุมผู้ต้องขัง รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งสิ้น ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
และ 8. ต้องการให้แก้ระเบียบเรือนจำให้ปรับชั้นนักโทษทุกเดือนนั้น ขอเรียนว่าการเว้นห้วงระยะเวลาในการเลื่อนชั้นผู้ต้องขังก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาความประพฤติและจิตใจ ตลอดจนการประเมินผลพฤติกรรมโดยเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการเลื่อนชั้นผู้ต้องขังในการหล่อหลอมและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง
พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมราชทัณฑ์ตระหนักดีว่า ผู้ต้องขัง คือ เพื่อนมนุษย์ คือพี่น้องร่วมชาติและเป็นจุดศูนย์กลาง จึงมีความตั้งใจที่จะดูแลเอาใจใส่ทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในปัจจุบันยังคงประสบปัญหาผู้ต้องขังมีจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายประการในการดูแลผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ หรือสถานที่เกิดความแออัด ซึ่งกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป