xs
xsm
sm
md
lg

กลับเข้าคุกต่อ อุทธรณ์ยกคำร้องแชร์ลูกโซ่ยูฟัน ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยการประกันตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง 4 จำเลยคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน กรณียื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการประกันตัว ส่วนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งอุทธรณ์คดีแชร์ลูกโซ์ยูฟันสโตร์ รวม 7 สำนวน ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2279/2558, อ.2836/2558, อ.1246/2559, อ.2081/2559, อ.2383/2559, อ.2915/2559 และ อ.3934/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ข่ายยูฟันสโตร์, นายเควิน ลัย (Kevin Lai) สัญชาติมาเลเซีย อดีต ผจก.ธนาคาร UDBP, นายหยาง หยวน เฉา (Yang Yuan Zhao) สัญชาติจีน อดีต รอง ผจก.ธนาคาร UDBP ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของ บริษัท UDBP แมนเนจเมนท์ จำกัด (ประเทศไทย) ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาการเงินของ บจก.ยูฟันสโตร์, นายนที ธีระโรจนพงษ์ นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ, เครือข่ายแชร์ลูกโซ่ยูฟัน สโตร์ที่มีทั้งพนักงานบริษัทเอกชน-ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และบริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด บริษัทเครือข่ายยูฟันฯ เป็นจำเลยที่ 1-43 ในความผิด 5 ข้อหาฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556, พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบขายตรง พ.ศ. 2545, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีเมื่อ 25 ต.ค. 2556 - 18 มิ.ย. 2558 บจก.ยูฟัน สโตร์ ที่มีชาวมาเลเซียเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นที่ 1 มี พล.ต.อธิวัฒน์ สุ่นปาน และคนไทยอีกคนถือหุ้นลำดับถัดมา ขณะที่การดำเนินธุรกิจของยูฟันฯ นั้นก็ได้ชักชวนบุคคลเข้าร่วมในเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ น้ำผลไม้-สมุนไพร-เครื่องสำอางผิวหน้า โดยทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย แต่ภายหลังได้หลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่เรียกว่ายูโทเคน (U–TOKEN) โดยอ้างว่าได้รับความนิยมและยอมรับในประเทศออสเตรเลีย-มาเลเซีย ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัยการโจทก์ขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนเงินชดใช้แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน 356,211,209 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีด้วย

โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวจำเลย 22 รายทั้งชาย หญิง ที่ต้องคำพิพากษาจำคุกสูงสุด 20-50 ปี จากเรือนจำมาฟังคำตัดสินชั้นอุทธรณ์ และก่อนหน้านี้ได้ออกหมายเรียกแจ้งให้จำเลย 21 รายที่ศาลยกฟ้องไปมาร่วมฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ซึ่งมีกลุ่มญาติของจำเลยมาให้กำลังใจกว่า 30 คน

เมื่อถึงเวลา 11.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาฯ ได้แจ้งให้จำเลยที่มาศาลในวันนี้ทราบว่า คำสั่งที่ศาลอุทธรณ์ส่งมาในวันนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17, 36, 37, 40 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่น่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2560 และ 20 พ.ย. 2560 น.ส.อลิสา หรืออลิส จำเลยที่ 17, นายวัจน์ณฐภัทร์ จำเลยที่ 36, นายบุญธรรม จำเลยที่ 37, นายรัชชาพงษ์ จำเลยที่ 40 ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องของจำเลยทั้ง 4 ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 212 วรรค 1 (บัญญัติว่าหากศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนั้น ก็ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฯ) วินิจฉัยกรณีที่ศาลใช้ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา (ป.วิอาญา) 108/1 บทบัญญัติของกฎหมายนั้นขัดต่อสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าในคดีอาญาผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าคดีจะมีคำพิพากษา โดยคำขอในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาฯ โดยการไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ

ศาลอุทธรณ์ตรวจประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 212 วรรคหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่ากรณีที่จะเสนอความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความในคดีนั้นโต้แย้งเกี่ยวกับกฎหมายที่นำมาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่กรณีคำร้องของจำเลยทั้ง 4 นั้น เป็นเรื่องของการโต้แย้งในกฎหมายเกี่ยวกับการให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี จึงไม่ใช่กรณีที่จะเข้าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะรับคำร้องของจำเลยทั้ง 4 ไว้เสนอศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุแห่งการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็เป็นไปตามที่ ป.วิอาญา บัญญัติไว้ จึงให้ยกอุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยทั้ง 4

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาคดีหลักคดีนี้ที่อัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลย 21 คน และจำเลย 22 รายที่ยื่นอุทธรณ์นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่าจะมีคำพิพากษาอย่างไร

สำหรับคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันนี้ จำเลยทั้ง 43 คน ให้การปฏิเสธ และสืบพยานต่อสู้คดี ซึ่งชั้นพิจารณาศาลได้สืบพยานโจทก์ 61 ปาก พยานจำเลย 59 ปาก โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2560 ว่า นายอภิชณัฏฐ์ จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ผู้บรรยายชักชวนให้ลงทุน บ.ยูฟันฯ ที่ไม่ได้จำหน่ายสินค้าขายตรงตามที่แจ้งไว้แต่ให้ลงทุนเงินยูโทเคน อ้างว่าได้รับความเชื่อถือนิยมในประเทศออสเตรเลีย-มาเลเซีย ซึ่งหากหาสมาชิกได้จะได้รับค่าตอบแทน 7-12 % ของเงินที่สมาชิกใหม่นำมาลงทุน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1, 2, 4, 6, 11, 12, 13 นั้นเป็นแม่ข่ายระดับสูงที่ใกล้ชิดกับผู้บริหาร บจก.ยูฟันฯ มีความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กับฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุด ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ให้จำคุก 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี รวม 12,255 ปี และฐานร่วมกันเข้าเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมกระทำการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมของ บจก.ยูฟันฯ ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 จำคุกอีกคนละ 10 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งเจ็ดคนใน 2 ข้อหาคนละ 12,265 ปี แต่เมื่อโทษรายกระทงนั้นสูงสุดถึง 10 ปีแล้ว จึงรวมโทษจำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปีตามกฎหมาย

ส่วน บจก.ยูเทรดดิ้ง จำเลยที่ 42 ที่ร่วมโฆษณา ประกาศ แนะนำและชักชวนให้ประชาชนทั่วไปนำเงินมาร่วมลงทุน ให้ลงโทษปรับตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 500,000 บาท เป็นเงินทิ้งสิ้น 1,225,500,000 บาท กับให้ปรับตาม พ.ร.บ.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ อีก 200,000 บาท รวมปรับบริษัท 2 ข้อหา เป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,700,000 บาท

ส่วนนายนที ธีระโรจนพงษ์ จำเลยที่ 27 ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ให้จำคุก 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี และความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุกอีก 2 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 12,257 ปี แต่เมื่อโทษรายกระทงนั้นสูงสุดไม่เกิน 10 ปีแล้วจึงรวมโทษจำคุกจำเลยไว้คนละ 20 ปีตามกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น