MGR Online - ศาลพิพากษาประหารชีวิต “อ้อแอ้” ลักลอบนำเข้ายาอีรูปการ์ตูนจากฮอลแลนด์ แต่ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยอีก 2 คนที่เป็นเพื่อนกัน พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอว่าร่วมกระทำผิดให้ยกฟ้อง
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อย.1883/2561 ที่ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.อัมพิกา หรืออ้อแอ้ ปะติตัง อายุ 26 ปี ชาว จ.หนองคาย, น.ส.วรารัตน์ หรือแอ๋ม จันทมาส อายุ 26 ปี ชาว กทม.และนายทรงพล ทมิยะ อายุ 34 ปี ชาว จ.นนทบุรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในฐานความผิดร่วมกันนำเข้ายาอี ( 3,4 เมทิลลีน ไดออกซิเมทแอมเฟตามีน) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายฯ ร่วมกันมียาอีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 100/1, 102 พ.ร.บ.มาตการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 5, 7, 8, 14 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5, 6, 32, 33, 83
โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค. 2561 จำเลยทั้งสามได้สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยจำเลยร่วมตกลงวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันออกเงินซื้อยาอีจากประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อมาจำหน่ายให้ลูกค้าในประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1-2 ทำหน้าที่เก็บรักษา ครอบครองและขนลำเลียงยาอีเข้ามา โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 จำเลยที่ 1-2 ได้เดินทางผ่านมาทางสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งนำเอายาอี จำนวน 5,731 เม็ด น้ำหนัก 2.658 กิโลกรัม ที่บรรจุในกล่องอาหารสัตว์ซุกซ่อนในกระเป๋าเป้สะพายหลังที่ใส่ไว้ในกระเป๋าเดินทาง เอาเข้ามาในประเทศเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมจำเลยที่ 1-2 ขณะนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วนจำเลยที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ตามหมายจับ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2561
ชั้นพิจารณา น.ส.อัมพิกา จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วน น.ส.วรารัตน์ และนายทรงพล จำเลยที่ 2-3 ให้การปฏิเสธ โดยระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล จำเลยทั้งสามไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งตัวถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
โดยวันนี้ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งสามมาจากเรือนจำเพื่อฟังคำพิพากษา โดยมีเพื่อนและญาติกว่า 10 คน เดินทางมาร่วมฟังคำตัดสินและให้กำลังใจพวกจำเลย
ขณะที่ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่นำสืบในคดีแล้ว โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ซึ่งเป็นชุดจับกุมมาเบิกความถึงรายละเอียดการจับกุมสอดคล้องต้องกันว่า ก่อนจะจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมหญิงคนหนึ่งชื่อลูกเกด ซึ่งมียาเสพติดไว้ในครอบครองในจำนวนนั้นมียาอีส่วนหนึ่ง เมื่อสอบสวนขยายผลทราบว่าได้ติดต่อซื้อยาอีจาก น.ส.อัมพิกา จำเลยที่ 1 ผ่านโปรแกรมแชต LINE เมื่อตรวจสอบการสนทนาในไลน์ก็พบว่า จำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะนำยาอีจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายให้
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ติดตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 โดยตรวจสอบกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในการเดินทางเข้าออกประเทศ จนทราบข้อมูลว่าจำเลยที่ 1 กำลังจะกลับเข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ไปที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อติดตามดูพฤติการณ์ก็พบว่าจำเลยที่ 1 เดินทางมาพร้อมกับจำเลยที่ 2 โดยช่วงที่ไปรับกระเป๋าเดินทางก็มีท่าทางระแวดระวัง ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำกระเป๋าเป้สะพายลายทหารออกจากกระเป๋าเดินทางมาสะพายหลัง แล้วเดินออกมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สะกดรอยตามพร้อมแสดงตัวเพื่อตรวจค้นและจับกุม โดยการตรวจค้นกระเป๋าพบซุกซ่อนยาอีปะปนอยู่ในอาหารแมวที่ใส่ไว้ในกล่องอาหาร โดยในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 รับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2-3 นำเงินมาซื้อยาอีจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจำเลยที่ 1-2 ลงทุนคนละ 100,000 บาท จำเลยที่ 3 จำนวน 80,000 บาท ขณะที่การเดินทางก็จะแวะเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอหมายจับจำเลยที่ 3 และจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2561
เมื่อพิจารณาคำเบิกความพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ขณะจับกุมแล้วเชื่อว่า เบิกความตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นซึ่งเบิกความสอดคล้องกันเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 แล้ว ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย น.ส.อัมพิกา จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง
ส่วน น.ส.วรารัตน์ จำเลยที่ 2 แม้ในชั้นสอบสวน น.ส.อัมพิกา จำเลยที่ 1 จะให้การว่าร่วมลงทุนด้วยกันแต่คำเบิกความนั้นก็เป็นลักษณะพยานบอกเล่าที่จะต้องนำสืบและรับฟังร่วมกันพยานอื่น ซึ่งโจทก์ไม่มีพยานอื่นคงมีเพียงข้อมูลที่พบว่าจำเลยที่ 2 เดินทางร่วมมากับจำเลยที่ 1 โดยชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธระบุว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การเกี่ยวกับข้อมูลตนเองเท่านั้นไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งชั้นนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้อ่านบันทึกคำให้การให้จำเลยที่ 2 ฟัง พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 นี้จึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เช่นเดียวกับนายทรงพล จำเลยที่ 3 ที่คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 3 เคยร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 ช่วงเดือน ก.ค. 2560 เท่านั้น แต่ก็ไม่มีการดำเนินการจับกุมในขณะนั้น
ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงรับฟังได้เฉพาะ น.ส.อัมพิกา จำเลยที่ 1 ว่า นำเข้ายาอี ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายฯ และมียาอีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.มาตการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานนำเข้ายาอี เข้ามาจำหน่ายให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้ตลอดชีวิตและให้ริบของกลางไว้ทั้งหมด
ส่วน น.ส.วรารัตน์ และนายทรงพล จำเลยที่ 2-3 พิพากษาให้ยกฟ้อง โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ทั้งนี้ ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง เพื่อนและญาติของจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างส่งเสียงร้องด้วยความดีใจ ส่วน น.ส.อัมพิกา หรืออ้อแอ้ ซึ่งสวมชุดนักโทษสีน้ำตาลและแมสปิดใบหน้า ก็มีท่าทางซึมเศร้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2561 พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.)ได้แถลงข่าวจับกุม น.ส.อัมพิกา หรืออ้อแอ้ ปะติตัง, น.ส.วรารัตน์ หรือแอ๋ม และนายทรงพล ทมิยะ ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ในข้อหาลักลอบจำหน่ายยาอีชนิดใหม่รูปตัวการ์ตูนดังกล่าว ซึ่งนำมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน นักศึกษา เมื่อเสพเข้าไปจะออกฤทธิ์ให้มีความรู้สึกเพลิดเพลินและกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และถือเป็นเรื่องภัยคุกคามทางเพศ กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเมืองไทย