xs
xsm
sm
md
lg

“วีระกานต์” เสียใจ “ป๋าเปรม” อสัญกรรม “ณัฐวุฒิ-จตุพร” อยากดู “มาร์ค” จะโหวตหนุน “ลุงตู่”ได้อย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - 10 แกนนำเสื้อแดงขึ้นศาลคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 52 “วีระกานต์” เสียใจ “ป๋าเปรม” ถึงแก่อสัญกรรม พร้อมไปร่วมงานศพ เช่นเดียวกับ “ณัฐวุฒิ-จตุพร” ขอแสดงความเสียใจและขออโหสิกรรม อ้างการต่อสู้ที่ผ่านมาไม่มีประเด็นเรื่องส่วนตัว บอกอยากดู “อภิสิทธิ์” ที่เคยประกาศไม่เอา “ลุงตู่” จะโหวตหนุนให้เป็นนายกฯ ได้อย่างไร เชื่อเสียงปริ่มน้ำจะอยู่ได้ไม่นาน



วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.968/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กับพวกรวม 13 คน เป็นจำเลย

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 14 เม.ย. 2552 กลุ่ม นปช.จัดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหา โดยจำเลยให้การปฏิเสธและได้รับประกันตัว

นายวีระกานต์ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นศาลถึงการอสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีฯ ว่ารู้สึกเสียใจเป็นธรรมดา ป๋าเป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่แรก เป็นสัจธรรม ชีวิตเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ก็ต้องทำใจว่าเป็นธรรมชาติ ส่วนตัวก็จะเดินทางไปฟังสวดศพด้วย

ส่วนในอดีตมีหลายเหตุการณ์ที่กระทบกระทั่งกับ พล.อ.เปรม จะมีการไปขอขมาหรือไม่ นายวีระกานต์กล่าวว่า เรื่องที่จะต้องพูดกันเอาไว้โอกาสหลัง เรื่องยาวต้องใช้เวลา ไม่สามารถพูดสั้นๆ ได้ วันนี้ก็เสียใจอย่างสุดซึ้ง ต้องอโหสิกรรมอยู่แล้ว อะไรที่เป็นบทเรียนก็ต้องเก็บไว้ไม่ให้มันเกิดต่อไป

ด้านนายณัฐวุฒิกล่าวถึงกรณี พล.อ.เปรม ว่าในฐานะที่ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง วาระที่ท่านถึงแก่อสัญกรรมก็ต้องแสดงความเสียใจและแสดงความอาลัย โดยกระบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ของพวกเราที่ผ่านมา เราก็ได้พูดชัดมาตลอดว่าไม่ได้มีประเด็นส่วนตัวกับใคร เป็นเรื่องของหลักการและสถานการณ์ ต้องแยกให้ชัดว่าเป็นมิติของการต่อสู้ทางการเมืองและหลักการประชาธิปไตย แต่ในทางส่วนตัวในวาระที่ท่านถึงแก่อสัญกรรม ประชาชนก็พึงที่จะแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียครั้งสำคัญยิ่งในครั้งนี้

นายณัฐวุฒิยังกล่าวถึงบรรยากาศในสภาผู้แทนราษฎร 2 วันที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องปกติของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งว่างเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่มากว่า 5 ปี เมื่อสภาเปิดก็ต้องแสดงบทบาทชิงไหวพริบ และการพยายามสร้างความได้เปรียบทางการเมืองในฝ่ายของตนเอง ตนไม่อยากให้ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องอึดอัดรำคาญใจ หรือคิดว่าการเมืองจากการเลือกตั้งคือการทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ความจริงแล้วสภาเป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งของประชาชน จะได้ถกเถียงกัน เมื่อมีข้อยุติตามกฎกติกาอย่างไรก็ต้องเดินหน้าไปตามนั้น ถ้ามันจะวุ่นวายก็มาจากเจตนาของคนบางกลุ่มที่ต้องการใช้สภาจากการเลือกตั้งตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเมือง ต่อรองกันไม่รู้เรื่อง จัดสรรอำนาจและแบ่งผลประโยชน์กันยังไม่ลงตัว ตนก็อยากให้กำลังใจ ส.ส.ทุกคนยืนยันหลักการประชาธิปไตย

“ผมคิดว่าการทำหน้าที่ในสภาทำตามระบบทำให้ประเทศยังมีความหวัง แม้การเริ่มต้น 2 วันแรกด้วยความสับสนอลหม่าน การต่อสู้กันนอกสภากว่า 10 ปีที่ผ่านมามันอธิบายชัดเจนแล้วว่าไม่มีฝ่ายใดชนะกันจริงๆ มีแต่ความเจ็บปวด เสียหายและสูญเสีย ดังนั้น เมื่อสภากลับมา ในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งก็ขอฝากความหวังกับคนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนต่อสู้อย่างถึงที่สุดภายใต้กระบวนการรัฐสภา เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย นำประเทศกลับคืนสู่ทิศทางที่ถูกต้องให้ได้”

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า กรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะนำขบวนขันหมากไปสู่ขอพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยให้มาร่วมรัฐบาลนั้น ตนยังจำท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนเก่าได้ดี ที่พูดและอัดคลิปออกเผยแพร่ต่อประชาชน ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยังจำท่าทีของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่พูดก็เข้าใจได้ว่าจะยืนยันหลักการประชาธิปไตยหลังการเลิกตั้งครั้งนี้ ดังนั้น ฉากการเมืองในวันนี้น่าสนใจว่าทั้งสองพรรคจะแสดงออกอย่างไร

“ถ้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอ้างว่าที่นายอภิสิทธิ์พูดในฐานะหัวหน้าพรรคตอนเลือกตั้งเป็นเรื่องที่กรรมการบริหารชุดใหม่ไม่ต้องรับผิดชอบ ก็พูดมาให้ชัด ประชาชนจะได้รู้ว่าเล่นเกมกันแบบนี้ และหากพรรคประชาธิปัตย์ตอบรับร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แล้วนายอภิสิทธิ์ลุกขึ้นยืนในสภาแล้วขานชื่อโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทั้งหมดมีการตกลงกันเรียบร้อยแล้ว การยกขันหมากเทียบเชิญในวันนี้ก็เป็นเพียงละครทางการเมืองฉากหนึ่งให้ภาพออกมาดูสมบูรณ์”

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการอสัญกรรมของว่า พวกตนประกาศตั้งแต่ต้นเรื่องคุณูปการของ พล.อ.เปรม มีหลายเรื่องที่คนไทยต้องไม่ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ที่เป็นการยุติการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลไทย สามารถลดการเสียชีวิตในแต่ละปีเป็นจำนวนนับพัน พล.อ.เปรมได้ประกาศคำสั่งยุติความตาย นำคนไทยที่เข้าป่าไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ประชาชน กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย ต่อมาคือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นแบบอย่างหนึ่ง สุดท้ายก็คือคำว่าผมพอแล้ว เป็นสัจธรรมทางอำนาจที่ผู้มีอำนาจในยุคหลังควรที่จะเอาเป็นแบบอย่าง ส่วนเรื่องความเห็นที่แตกต่างกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตนในฐานะคนพุทธก็กราบขออโหสิกรรม เราเป็นคนไทยสามารถแยกแยะทุกอย่างได้ วันนี้ก็ขอกราบอโหสิกรรม

เมื่อถามถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมรัฐบาล นายจตุพรกล่าวว่า ตนเชื่อมาตั้งแต่ต้นว่าสองพรรคนี้ก็ไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะถูกออกแบบไว้แล้วถ้าพรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมเสียงได้ก่อน 126 เสียง บวกกับ ส.ว.250 ก็เกินครึ่ง 376 แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่พรรคเหล่านั้นจะต้องไปรับผิดชอบคำพูดต่อประชาชนในช่วงรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา หรือช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาลว่าใครได้เคยพูดอะไรกันไว้บ้าง ความรับผิดชอบก็จะเกิดกับบุคคลเหล่านี้ เสียงถึงอย่างไรก็ปริ่มน้ำ แม้ว่าจะมีงูเห่ากันบ้าง แต่ถ้าสังคมมีความแข็งแรง ประชาชนมีความแข็งแรง ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นการเลือกโดยเปิดเผย โดยการเปร่งวาจา

“ผมเชื่อว่าใครคิดจะเป็นงูเห่านั้นก็เป็นคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย และรัฐบาลที่เริ่มต้นด้วยงูเห่านั้นก็จะอยู่ได้ไม่ยืดเพราะขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้น เพราะเท่ากับเป็นการเอาคนที่ทรยศกับประชาชนมาให้การสนับสนุน เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ให้ระบบรัฐสภาเดินไป การเมืองยังจะต้องเดินไป ผมเองก็วาดหวังว่าซีกที่จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะถึงอย่างไรก็อยู่ได้ไม่นานอยู่แล้ว ดูตัวเลขเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 นั่นจะเป็นสัจธรรมทางการเมืองว่า การต่อรองจะอยู่ในช่วงทุกห้วงเวลาของสภาฯ สภาจะล่มแทบทุกเวลา ท้ายที่สุดสภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเหมือนจอมพลถนอม ท้ายที่สุดก็จะทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันไม่ได้ สภาพการณ์จะเป็นอย่างนั้น ผมเชื่อว่ารัฐบาลปริ่มน้ำจะจมน้ำเร็ว ถ้าเริ่มต้นด้วยการขาดความชอบธรรม” นายจตุพรกล่าว

ส่วนการตรวจหลักฐานคดีที่ห้องพิจารณา 908 ซึ่งนายวีระกานต์,นายจตุพร ,นายณัฐวุฒิ กับพวกจำเลยต่างสวมชุดสีดำ เมื่อถึงเวลานัด ปรากฎว่าทนายความจำเลยที่ 6 แถลงว่า นายณรงศักดิ์ มณี อายุ 52 ปี ชาว จ.นครสวรรค์ จำเลยที่ 6 ป่วยโรคไต ขณะนี้เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ในจ.สุพรรณบุรี ไม่สามารถมาศาลได้ ขออนุญาตให้จำเลยที่ 6 ไม่มาศาล ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต ขณะที่ทนายความซึ่งเป็นบุตรสาว แถลงต่อว่า นายพีระ พริ้งกลาง จำเลยที่ 12 เสียชีวิตแล้ว โดยมีใบมรณบัตรมายื่นต่อศาล ซึ่งอัยการจะขอเวลาไปตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนแถลงต่อศาล

จากนั้นอัยการแถลงขอนำพยานเข้าสืบจำนวน 141 ใช้เวลา 50 นัด ขณะที่ ทนายความจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบจำนวน 50 ปาก ใช้เวลา 20 นัด ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตและนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก 23 เม.ย.2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีนี้อัยการได้แยกข้อหาฟ้องจำเลยแต่ละคนดังนี้ นายวีระกานต์ อายุ 70 ปี อดีตประธาน นปช.จำเลยที่ 1, นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 53 ปี ประธาน นปช. จำเลยที่ 2 และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 43 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4, นายสิระ หรือสรวิชญ์ พิมพ์กลาง อายุ 59 ปี แกนนำคนเสื้อแดง จ.สกลนคร จำเลยที่ 5, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 7, นายพิพัฒน์ชัย หรือสมชาย ไพบูลย์ อายุ 49 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 8 และนายพายัพ ปั้นเกตุ อายุ 59 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 9 ถูกยื่นฟ้อง 3 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ส่วนนายณรงศักดิ์ มณี อายุ 52 ปี ชาว จ.นครสวรรค์ จำเลยที่ 6 ถูกยื่นฟ้องข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และนายพงศ์พิเชษฐ์ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 60 ปี แนวร่วม นปช.จำเลยที่ 10 ถูกยื่นฟ้อง 2 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215นายอดิศร เพียงเกษ จำเลยที่ 11 ถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นายพีระ พริ้งกลาง จำเลยที่ 12 ถูกฟ้องในความผิดฐาน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 , ส่วน นายเมธี อมรวุฒิกุล จำเลยที่ 13 ถูกฟ้องในความผิดฐาน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215












กำลังโหลดความคิดเห็น