xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืนจำคุก “ศิริโชค” 2 ปี ปรับ 1 แสน หมิ่นลูกชายเจ้าของ รร.แลนด์มาร์ค รอลงอาญา 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 2 ปี ปรับ 1 แสน “ศิริโชค” อดีต ส.ส.สงขลา โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นนักธุรกิจตระกูลสีหนาทกถากุล เจ้าของโรงแรมแลนด์มาร์ค ยังปรานีเคยทำคุณประโยชน์ ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 703 วันนี้ (1 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.3352/2558 ที่นายอนุชา สิหนาทกถากุล อายุ 60 ปี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตระกูลดังบุตรชายของนายมนตรี เจ้าของธุรกิจโรงแรมแลนมาร์ค เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศิริโชค โสภา อายุ 52 ปี อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. - 8 ต.ค. 2558 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวทำนองว่าบิดาของนายอนุชาโจทก์ เป็นคนไม่ดี ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ทำให้โจทก์รู้สึกได้รับความเสียหาย จึงนำเรื่องมายื่นฟ้องเป็นคดี โดยชั้นพิจารณาคดี นายศิริโชค จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จำคุก 2 ปี และปรับเงิน 100,000 บาท พร้อมทั้งให้จำเลย ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับด้วย ได้แก่ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ผู้จัดการ และเดอะเนชั่นภาคภาษาอังกฤษ

ในวันนี้นายศิริโชค จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมทนายความและบุคคลใกล้ชิด

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายมนตรี สีหนาทกถากุล ผู้เสียชีวิต ซึ่งฟ้อง น.ส.เสาวรส โสภา มารดาของนายศิริโชค จำเลยในคดีฉ้อโกงที่ศาลแขวงพระนครใต้ โดยศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาให้จำคุก น.ส.เสาวรส มารดาของจำเลย แต่นายมนตรีบิดาของโจทก์ก็ได้ถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ เนื่องจาก น.ส.เสาวรสยินยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้จำนวน 5 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 22 ก.ค. 2558 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กประกอบภาพถ่ายระบุว่าแม่โดนหลอกให้ทำสัญญาเงินกู้แล้วไม่ได้รับเงิน สร้างหลักฐานเท็จมาฟ้องคดี และที่แม่ถูกจำคุกเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ นายมนตรีเป็นคนขี้โกง ชอบเอารัดเอาเปรียบ คนไหนถูกนายมนตรีโกง ตนรู้จัก ต่อมาโจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งแล้วก็มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย

มีประเด็นพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องหรือไม่

เห็นว่า โจทก์ได้อ้างตนเองเบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2553 น.ส.เสาวรสได้กู้ยืมเงินจากนายมนตรี บิดาของโจทก์จำนวน 15 ล้านบาท และได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ น.ส.เสาวรสเป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2550 ก่อนกู้ยืมเงิน ทำให้ น.ส.เสาวรสไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ผู้ตายจึงฟ้อง น.ส.เสาวรส ต่อศาลแขวงกรุงเทพใต้ แต่ภายหลังได้ถอนฟ้องในชั้นอุทธณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2558 นายศิริโชค จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ทำนองว่านายมนตรี บิดาของโจทก์เป็นคนขี้โกง ชอบเอารัดเอาเปรียบ แม่โดยหลอกให้กู้ยืมเงิน โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 สุดท้ายแม่ก็ถูกศาลจำคุก และที่เราแพ้คดีเพราะเรามีหลักฐานไปหักล้างเขาได้ ซึ่งข้อความดังกล่าวที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กตั้งค่าเป็นสาธารณะและปักหมุดให้เห็นเป็นหน้าแรก ทำให้ผู้ติดตามแสดงความคิดเห็นตำหนินายมนตรี ผู้เสียชีวิต และโจทก์ซึ่งเป็นบุตร เป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าผู้เสียชีวิตและครอบครัวโจทก์เป็นคนไม่ดี ได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นเกลียดชัง นอกจากนี้โจทก์ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจป อท.มาเบิกความสนับสนุนว่าได้รับแจ้งความจากโจทก์แล้วจึงตรวจสอบพบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวมีนายศิริโชคเป็นผู้ใช้ซึ่งตรงกัน โดยมีการโพสต์เกี่ยวกับเรื่องราวตัวเอง เรื่องราวของพรรคประชาธิปัตย์ และโพสต์เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ขณะที่นายศิริโชคอ้างว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นของผู้สนับสนุนตนเป็นคนทำขึ้น เหมือนกับเพจเฟซบุ๊กของคนดังอื่นๆ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือนายทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังสามารถมีการปลอมขึ้นมาได้ด้วย

แต่ศาลเห็นว่าชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กศิริโชค ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ เคยโพสต์ข้อความแจ้งเรื่องไฟดับภายในพรรคประชาธิปัตย์ จนไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งจะต้องบุคคลภายในพรรคเท่านั้นจึงจะทราบเรื่อง โดยจำเลยก็เป็นรองเลขาธิการพรรค หากเป็นบุคคลภายนอกจะไม่สามารถทราบได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการโพสต์เรื่องการตรวจสอบเรื่องการใช้รถราชการขนยาเสพติด ขณะที่การโพสต์ข้อความเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างบิดาโจทก์กับ น.ส.เสาวรสก็ต้องเป็นบุคคลภายในครอบครัวเท่านั้นจึงจะทราบเรื่องและรายละเอียดการฟ้องคดีต่อกัน

นอกจากนี้ ทางนำสืบโจทก์ยังระบุว่า ได้มีการตรวจสอบจากวิกิพีเดียด้วยซึ่งระบุว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของนายศิริโชค โดยมีการแสดงข้อมูลไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์โพสต์ข้อความหมิ่นประมาท นาน 2 ปี ขณะจำเลยก็ไม่เคยเข้าโต้แย้งว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

แม้ว่าโจทก์จะนำสืบไม่ได้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องไอพีแอดเดรส ที่จะแสดงตำแหน่งของการโพสต์ในคอมพิวเตอร์ แต่พยานหลักฐานที่นำสืบมาสอดคล้องกับ ที่อยู่บนเว็บไซต์ของอินเตอร์เน็ต หรือยูอาร์แอล (อังกฤษ : URL) ที่ตรงกับเฟซบุ๊กของจำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเคยมีการปลอมของบุคคลผู้มีชื่อเสียง ก็ไม่เคยปรากฏว่าเป็นกรณีของจำเลยมาก่อน จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 ให้จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่จำเลยเคยเป็นเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรี เคยทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการนำรถของทางราชการไปใช้ขนยาเสพติด โดยไม่หวั่นเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัย จึงเห็นว่าได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติมีคุณงามความดี แม้จะกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ก็อาจเยียวยาด้วยการโฆษณาลงในสื่อสิ่งพิมพ์ได้ ที่ศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีนั้นเหมาะสมแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน



กำลังโหลดความคิดเห็น