xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! พบข้าราชการเมาแล้วขับถูกจับคุมประพฤติช่วงสงกรานต์ถึง 520 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - สถิติดื่มแล้วขับ ขับขี่โดยประมาท ถูกจับคุมประพฤติช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา 2562 เพิ่มขึ้นถึง 262 คดี กลุ่มอาชีพรับจ้างมากสุด ตามมาด้วยพวกเกษตรกร ขณะเดียวกันยังพบกลุ่มข้าราชการทำผิดมากถึง 520 คน ด้านมูลนิธิเมาแล้วขับเสนอเพิ่มโทษให้แรงขึ้น

วันนี้ (23 เม.ย.) เวลา 14.00 น. ที่กรมคุมประพฤติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นประธานแถลงข่าวสถิติคดี “ดื่มแล้วขับ ขับขี่โดยประมาท ถูกจับคุมประพฤติ” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 ร่วมกับ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค โดยมี นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาแล้วขับ นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และผู้บริหารกรมคุมประพฤติเข้าร่วม

นายประสารเปิดเผยว่า ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. 62 มีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจำนวน 12,810 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 12,325 คดี, ขับเสพ 469 คดี และ ขับรถประมาท 16 คดี โดยพบว่าเป็นผู้ชาย 12,471 ราย ผู้หญิง 339 ราย ส่วนช่วงอายุที่ทำผิดมากที่สุดระหว่าง 25-34 ปี ขณะที่กลุ่มอาชีพพบว่ากลุ่มผู้รับจ้างทั่วไปมากสุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นกลุ่มเกษตรกรและธุรกิจส่วนตัว สำหรับกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กลุ่มข้าราชการทำผิดมากถึง 520 คน หากเมื่อเทียบกับสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติในคดีขับรถขณะเมาสุราในช่วงเทศกาสงกรานต์ พ.ศ. 2561 พบว่าในปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น 232 คดี จังหวัดมหาสารคาม มีสถิติสูงสุด 714 คดี, กรุงเทพมหานคร 656 คดี, สกลนคร 585 คดี

นายประสารเผยอีกว่า ส่วนใหญ่ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง และมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อบรมระเบียบวินัยจราจร ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ในบางราย ห้ามออกจากบ้านตามช่วงเวลากำหนดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัว ซึ่งปีนี้ศาลสั่งติด EM มีจำนวน 490 ราย แบ่งเป็นคดี ขับรถขณะเมาสุรา 489 ราย คดีขับเสพ 1 ราย นอกจากนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดซ้ำ 236 ราย บางรายสูงถึง 7 ครั้ง

“กรมคุมประพฤติดำเนินการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่าผู้มีความเสี่ยงสูงในการติดสุราจะส่งต่อเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพต่อไป หรือเสนอความเห็นต่อศาลเพิ่มเงื่อนไขในการติด EM ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงติดสุราปานกลางและระดับต่ำจะให้ทำงานบริการสังคมและรับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรและการลดเลิกแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ระบบคัดแยกคุมประพฤติภายในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ การเพิ่มโทษในกลุ่มที่ทำผิดซ้ำ เป็นดุลพินิจของศาล แต่ยอมรับว่ามีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากฎหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

นายประสารเผยต่อว่า สำหรับข้าราชการ กรมคุมประพฤติมีมาตรการดูแลแต่ไม่สามารถก้าวล่วงหน่วยงานอื่นได้ แต่ในส่วนของกรมคุมประพฤติมีมาตรการเข้มงวดทำหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานในสังกัด หากมีเจ้าหน้าที่ดื่มแล้วถูกจับจะลงโทษทางวินัยสูงสุด

ด้าน นพ.อัษฎางค์กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบนโยบายการคัดกรองและบำบัดรักษาสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติฐานความผิดเป็นผู้ขับขี่ที่เมาสุรา โดยเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีผู้เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลตามโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ดื่มแล้วขับ ถูกจับ ผิดซ้ำ เบื้องต้นจำนวน 12 ราย ในกรณีเป็นผู้เสพติดสุราและมีปัญหาซ้ำซ้อนจะส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และหากมีอาการทางจิตรุนแรงจะส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ติดสุรารุนแรงและเรื้อรังลดละเลิกการดื่มสุรา และไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก

ส่วนทางนายสุรสิทธิ์เผยว่า มีข้อเสนอในส่วนกลุ่มผู้กระทำผิดซ้ำควรแก้ปัญหาเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น และขณะนี้ปัญหาที่พบ คือ ไม่สามารถตรวจสอบประวัติการกระทำผิดได้ทันภายใน 48 ชั่วโมง เพราะเป็นเรื่องของระเบียบในการเข้าไปกรอกข้อมูล ซึ่งตำรวจสามารถทำได้และต้องมีการหารืออย่างจริงจังกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อไม่ให้คนทำผิดซ้ำลอยนวล

ขณะที่นายเจษฎากล่าวว่า กฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ไม่มีช่องโหว แต่คนที่ปฏิบัติไม่เข้มงวด เช่น กรณีของกลุ่มวัยรุ่นนักดื่มหน้าใหม่ หลายคนคิดว่าเมาแล้วถูกจับ มีเงินเสียค่าปรับก็จะได้รับการปล่อยตัวเหลือโทษแค่รอลงอาญา 1 ปี ขณะเดียวกันเห็นว่าหากมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างจริงจังถูกคุมขังและไม่ให้ประกันตัวก็จะเป็นกรณีตัวอย่าง ทำให้ผู้อื่นเกิดความเข็ดหลาบ ไม่กล้าทำผิดอีก



กำลังโหลดความคิดเห็น