xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด บุญถนอม” โล่ง! ศาลฎีกายืนยกฟ้องคดีฆ่า “อัลรูไวลี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และพวก คดีอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุฯ ที่ต้องสงสัยพัวพันการตายของนักการทูตซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2532-2533 โดยศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกฟ้องไปก่อนหน้านี้



วันนี้ (22 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 712 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านพิพากษา คดี อ.119/2553 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวรี มารดานายมูฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี, พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง รวม 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา

โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2553 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ กับรัฐบาลประเทศอิหร่านที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของรัฐบาลซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2532 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทยเสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ แจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้นและกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง

แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ. 2533 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯ อีก 2 ครั้ง เสียชีวิตรวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม. รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร.(ขณะนั้น) ติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ กระทั่งระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ. 2533 ต่อเนื่องกันจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท.ตำแหน่ง รอง ผกก. จำเลยที่ 2 และ 3 มียศ ร.ต.อ.ตำแหน่ง รอง สว. จำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท.ตำแหน่ง รอง สว. และจำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต.ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งพวกจำเลยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ โดยจำเลยกับพวกบังอาจร่วมกันลักพาตัวนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุฯ ซึ่งเป็นพระญาติกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ เนื่องจากจำเลยหมดเข้าใจว่านายอัลรูไวลีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย

โดยจำเลยบังคับนำตัวนายอัลรูไวลีไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังไว้ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อซักถามข้อเท็จจริงเพื่อให้นายอัลรูไวลียอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ ทั้งนี้ จำเลยมีเจตนาฆ่านายอัลรูไวลีจนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อปกปิดความผิดของตนในความผิดที่จำเลยร่วมกันลักพาตัวนายอัลรูไวลีมาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าวมา คำฟ้องระบุด้วยว่าจำเลยทั้งห้ายังได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อยทำร้ายร่างกายนายอัลรูไวลีโดยวิธีการต่างๆ และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตายสมดังเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ โดยนำศพของนายอัลรูไวลีไปเผาทำลายภายในไร่ท้องที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อปิดบังการตายหรือปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา แขวงบางกะปิ เขตบางกะปิ แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกี่ยวพันกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 จำเลยทั้งห้าได้พบกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วงของกลาง จำเลยทั้งห้า แถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอด

คดีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2557 เนื่องจากเห็นว่า ในชั้นสืบพยานโจทก์ไม่ได้นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย เข้ามาเบิกความเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสถามค้าน โจทก์อ้างส่งแต่เพียงบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ฉบับลงวันที่ 31 พ.ค. 2556 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่ต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง เมื่อศาลได้พิจารณาถึงพยานเหตุผลแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแหวน ที่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเป็นของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี การให้การตามบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยที่ระบุว่าตนเองอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่จำเลยอุ้มนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ไปที่โรงแรมฉิมพลีย่านคลองตัน มีความแตกต่างและขัดแย้งในสาระสำคัญจากที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนเมื่อปี 2535 และ 2536 ว่าทราบเหตุการณ์มาจากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 5 ขณะที่ตนอยู่ที่พัทยา จึงเป็นข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้พยานแวดล้อมที่เป็นพนักงานและหุ้นส่วนของโรงแรมฉิมพลีต่างไม่มีใครเบิกความยืนยันว่าเห็นนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี มาที่โรงแรมฉิมพลี ทั้งไม่เห็นจำเลยทั้งห้าร่วมกันนำตัวนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี มาที่โรงแรมฉิมพลีแต่อย่างใด

การที่โจทก์ไม่นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัยมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำผิด เท่ากับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ลำพังมีเพียงบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยเป็นพยานบอกเล่าและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงไม่น่าเชื่อถือ ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งห้า

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้อง เห็นว่าคดีนี้ครั้งแรกพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีไปแล้ว แต่ภายหลังมีการอ้างคำให้การใหม่ของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอมาดำเนินคดีใหม่ ซึ่งคำให้การดังกล่าวและแหวนที่อ้างว่าเป็นของนายโมฮัมหมัดนั้นเคยปรากฏในสำนวนที่พนักงานอัยการเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว พยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่

ส่วนประเด็นว่าจำเลยที่ 2-5 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลย พานายโมฮัมหมัดเข้าไปในโรงแรมฉิมพลี เพียงแต่รับฟังได้ว่าเคยมีการใช้โรงแรมดังกล่าวเป็นที่รวมพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วน พ.ต.ท.สุวิชชัย พยานโจทก์ที่อ้างว่ามีการจับกุมตัวชาวซาอุฯ มาสอบสวน แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าพนักงานสอบสวนนั้นมีใครบ้างที่เป็นผู้จับกุมและฆาตกรรมเผานายโมฮัมหมัด คำให้การจึงเป็นเพียงเเต่การคาดคิดของ พ.ต.ท.สุวิชชัยว่าผู้ที่กระทำจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายงานซึ่งก็คือจำเลยที่ 2-5 ขณะที่พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สุวิชชัยนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่าจากผู้อื่นซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบ อีกทั้งเมื่อ พ.ต.ท.สุวิชชัยได้ทราบความดังกล่าวกลับไม่นำไปเล่าให้ผู้บังคับบัญชาฟัง

แม้ภายหลัง พ.ต.ท.สุวิชชัยจะไปให้การต่อดีเอสไอว่าตัวเองเป็นผู้พบเห็นนายโมฮัมหมัดด้วยตัวเองที่โรงแรมเเละพบแหวนของนายโมฮัมหมัดตั้งเเต่ปี 2546 ซึ่งควรที่จะนำมาให้พนักงานสอบสวนในขณะนั้น แต่กลับปล่อยเวลาทิ้งไว้ถึง 5 ปีแล้วค่อยนำแหวนไปซ่อมก่อนมามอบให้พนักงานสอบสวนซึ่งอาจทำให้หลักฐานเสื่อมสลายไปได้ ขณะที่เจ้าของร้านเพชรและช่างซ่อมแหวนเบิกความว่า แหวนที่นำมาซ่อมนั้นไม่มีร่องรอยไฟไหม้ ทั้งที่ พ.ต.ท.สุวิชชัยอ้างว่าได้แหวนมาจากจำเลยที่ 4 ที่นำมาจากก้นถังน้ำมัน 200 ลิตรที่เผาทำลายนายโมฮัมหมัด ขณะที่ญาติของนายโมฮัมหมัดก็ไม่อาจยืนยันว่าแหวนดังกล่าวเป็นของนายโมฮัมหมัด

แม้โจทก์จะมี พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ มาเบิกความเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ต.ท.สุวิชชัย แต่ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่ง พล.ต.ท.ชลอระบุว่าได้ฟังมาจาก พ.ต.ท.สุวิชชัยเองเท่านั้น ประกอบกับอัยการโจทก์ก็ไม่ได้นำ พ.ต.ท.สุวิชชัยมาเบิกความต่อศาลเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2-5 ซักถามให้ได้ความอย่างชัดแจ้ง จึงมีเพียงคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัยในชั้นสอบสวน และบันทึกถ้อยคำที่ยื่นมาภายหลังที่รับฟังไม่ได้ อีกทั้งคำให้การยังกลับไปกลับมา ไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นว่ามีการกระทำถึงนายโมฮัมหมัดถึงแก่ความตาย ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา

โดยวันนี้ พล.ต.ท.สมคิด กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นจำเลยที่ 1-5 เดินทางมาฟังคำพิพากษาอย่างพร้อมเพรียงกับทนายความ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของประเทศซาอุดีอาระเบียบางส่วนเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าทางนำสืบของโจทก์คงได้เพียงข้อเท็จจริงของคดีที่มีการฆาตกรรมนักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ 3 คน ต่อมานายอัลรูไวลี่ นักธุรกิจได้หายตัวไป โดยไม่ปรากฏหลักฐานการเสียชีวิตพบแต่รถยนต์ จากการสืบสวนสอบสวนมีแต่คำพูดกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้ง 5 นำตัวผู้เสียหายไปฆ่าและเผา ไม่มีประจักษ์พยาน คงมีแต่ พ.ต.ท.สุวิชชัย ให้การเป็นพยานบอกเล่าลอยๆ ข้อเท็จจริงตามนำสืบของโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งห้า ที่จะมีน้ำหนักให้พิจารณาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่

กรณีมีข้อพิจารณาเพียงนำสืบของโจทก์ที่อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ จึงมีการรื้อฟื้นคดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ซึ่งคณะกรรมการที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุฯ หลังจากนักการทูตถูกฆาตกรรม และนักธุรกิจชาวซาอุฯ หายตัวไป มีความเห็นให้โอนคดีไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการ และเมื่อพิจารณาสำนวนการสอบสวนเดิม เห็นว่ามีพยาน 1 ปาก คือ พ.ต.ท.สุวิชชัย ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าผู้อื่น อยู่ระหว่างการปล่อยชั่วคราว โดย อธิบดีดีเอสไอ (ตำแหน่งขณะนั้น) ได้สนทนาพยานปาด พ.ต.ท.สุวิชชัย และบันทึกเสียง มีเนื้อหาสรุปว่า รัฐบาลไทยต้องการให้ประเทศซาอุฯ พอใจผลคดีที่นายอัลรูไวลีหายตัวไป

โดย พ.ต.ท.สุวิชชัย อ้างว่าได้รับทราบจากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันเอาตัวนายอัลรูไวลีไปยังโรงแรมฉิมพลี ก่อนพาไปยังไร่ของจำเลยที่ 1 ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ก่อนฆาตกรรมจนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นได้เผากลบและนำไปลอยอังคาร พ.ต.ท.สุวิชชัย ยังเล่าให้ พล.ต.อ.สมบัติ ฟังว่า ตนโดนดำเนินคดีข้อหาฆ่าผู้อื่น ถูกศาลมีนบุรีพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และได้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ จนเมื่อมีการถามว่าจะมีใครยืนยันว่านายอัลรูไวลีตายแล้ว พ.ต.ท.สุวิชชัย รับว่าตนสามารถยืนยันได้ แต่ต้องหลุดคดีก่อน นอกจากนี้ยังมีเจ้าของกิจการร้านเพชรพลอยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ถึงแหวนว่ามีลักษณะผ่านการใช้งานทั่วไป ไม่แตกต่างจากแหวนอื่น และเป็นแหวนที่ไม่เคยถูกไฟหรือความร้อนมาก่อน พยานยืนยันว่าสามารถดูออกและทราบทันทีถ้าแหวนถูกไฟมาก่อน

ข้อเท็จจริงทางนำสืบของโจทก์เกี่ยวกับแหวนที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ ได้ความเพียงว่าเดิม พ.ต.ท.สุวิชชัย ไม่เคยแจ้งแก่ผู้ใดหรือพนักงานสอบสวนว่ามีแหวนวงดังกล่าวเป็นพยาน แต่เมื่อดีเอสไอได้รับโอนสำนวนคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี พ.ต.ท.สุวิชชัย จึงไปพบ อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น หลังเวลาที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย ถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต อันมีลักษณะเป็นการต่อรองคดี เห็นว่า แม้โจทก์จะมีแหวนเป็นพยานหลักฐานใหม่ แต่การจะรับฟังแหวนดังกล่าวได้เพียงใด ต้องพิจารณาสภาพแหวนและพฤติการณ์ที่แวดล้อม กล่าวคือ พ.ต.ท.สุวิชชัย อ้างว่าแหวนอยู่ใต้ก้นถังน้ำมัน 200 ลิตร ที่เผาทำลายศพนายอัลรูไวลี โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง แต่ตัวแหวนกลับไม่ปรากฏร่องรอยการเผาไหม้ นอกจากนี้ ตามคำเบิกความของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น เบิกความว่าได้นำแหวนไปพบญาติของนายอัลรูไวลี ซึ่งญาติไม่ทราบว่าเป็นแหวนของนายอัลรูไวลีหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากสภาพแหวนและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง มีแต่พิรุธและขัดแย้งต่อเหตุผล ทำให้ความเป็นพยานวัตถุมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย ส่วนที่โจทก์ขอนำสืบ พ.ต.ท.สุวิชชัย ประกอบแหวนจึงต้องวินิจฉัยว่าสมควรรับฟังคำเบิกความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ขอสืบพยาน พ.ต.ท.สุวิชชัย แต่อ้างว่าไม่พบตัวในไทย ขอส่งประเด็นไปสืบที่ประเทศกัมพูชาและซาอุฯ ต่อมาโจทก์อ้างพบตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขอให้ดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา ขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้มีการประสานงานเกี่ยวกับสืบพยานดังกล่าว

ต่อมาจำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องว่า การสืบพยานในประเด็นดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) (7) โดยอ้างว่าจำเลยไม่มีโอกาสตรวจรับทราบพยานต่อสู้คดีเพียงพอ และไม่มีโอกาสซักค้าน ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะกระทำมิได้ และเรื่องหลักประกันขั้นพื้นฐานในการได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ และการเสนอข้อเท็จจริงโต้แย้งฯ ศาลจึงไม่อาจนำคำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย มารับฟังได้เฉพาะในเรื่องที่กระทบต่อการสู้คดีของจำเลยทั้งห้า ดังนั้น จึงเป็นคำเบิกความต้องห้ามที่ไม่อาจรับไว้เพื่อฟังได้ แต่คำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ในเรื่องอื่นที่ไม่กระทบต่อสิทธิในการดำเนินคดีของจำเลยทั้งห้า ไม่อยู่ในบทข้อห้าม

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ขอส่งคำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ซึ่งอ้างว่ามีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาล ข้อเท็จจริงได้ตามทางพิจารณาว่า เดิมก่อนที่ศาลจังหวัดมีนบุรีจะอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ยืนจำคุก พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้ติดต่อกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอมาตลอด ต่อมา พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้ติดต่อดีเอสไอขอให้นำตัวไปอยู่ต่างประเทศ ปรากฏตามการไต่สวนคำร้องของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น ลงวันที่ 25 มี.ค. 2556 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 และ 4 โดยอ้างหนังสือ พ.ต.ท.สุวิชชัย ว่าตนเองได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี แล้วแจ้งว่าจำเลยที่ 1 กับพวกข่มขู่ทำอันตรายแก่ชีวิต จึงขอความร่วมมือให้ดีเอสไอคุ้มครอง โดยย้ายไปอยู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และขอให้ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่โดยใช้ชื่อใหม่นี้ ขอให้คุ้มครองไปเบิกความด้วยการส่งประเด็นให้สืบพยานที่ประเทศดังกล่าว

ยังได้ตามคำเบิกความนายธาริตว่า ก่อนจะมีการสืบพยานที่สหรัฐอาหรับฯ พ.ต.ท.สุวิชชัย เดินทางเข้าออกประเทศเป็นอาจิณ ก่อนจะมีการสืบพยาน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอนำพยานปากดังกล่าวไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อีก แม้คำเบิกความดังกล่าวจะเป็นการไต่สวนเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลย แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในสำนวนที่ศาลนำมารับฟังประกอบคำวินิจฉัย เมื่อประกอบหนังสือ ตม. ที่ส่งมาศาลตามหมายเรียกระบุว่า นายเกียรติกรณ์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2555 พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า การที่พยานดังกล่าวเดินทางออกนอกประเทศได้เกิดจากการช่วยเหลือและดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ พ.ต.ท.สุวิชชัย เดินทางไปเบิกความที่ประเทศดังกล่าวตามข้อต่อรอง

การส่งประเด็นไปสืบพยาน พ.ต.ท.สุวิชชัย ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถนำมาเบิกความที่ศาลชั้นต้นได้ เชื่อว่าเกิดจากการต่อรองของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่เกรงว่าจะถูกควบคุมตัวตามคำพิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิตของศาลจังหวัดมีนบุรี มิใช่เกิดจากเกรงกลัวว่าจะถูกฝ่ายจำเลยทำอันตรายถึงแก่ชีวิต คำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่สหรัฐอาหรับฯ จึงไม่ต้องด้วยกรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจนำพยานมาเบิกความได้ และไม่ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่ปรากฏอยู่จึงมีเพียงแหวนวัตถุพยาน และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่ได้ความว่า พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้รับมอบแหวนจากจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าได้จากก้นถังน้ำมัน 200 ลิตร ที่ใช้เผาศพนายอัลรูไวลี กว่า 5 ชั่วโมง แต่ลักษณะของแหวนที่ปรากฏการซ่อมแซมมีรอยบิดเบี้ยวตามการใช้งานปกติ ไม่ปรากฏร่องรอยการเผาไหม้ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่ปรากฏจึงมีน้ำหนักน้อยจนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วม (มารดานายอัลรูไวลี่) เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายืน

ภายหลัง พล.ต.ท.สมคิด อดีตจเรตำรวจ ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกโล่งใจและขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรม เชื่อว่าคดีนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองที่ไม่ต้องการให้ตนเองก้าวหน้าในอาชีพตำรวจ ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้สุดท้ายตนถูกโยกย้ายไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 แต่ตนก็ยังทำหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งในทางการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้ก็ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน คดีความดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนในชั้นศาล

“กระบวนการยุติธรรมทำให้ได้พิสูจน์ต่อสังคมให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ที่กล่าวหาผมตลอดชีวิตรับราชการว่าผมเป็นผู้กระทำผิดในคดีนี้ บางครั้งยังไม่ถูกกล่าวหาก็โดนห้ามดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บังคับการกองปราบปราม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือผู้บัญชาการสำคัญๆ จนกระทั่งต้องไปทำหน้าที่ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความเห็นทางเมือง ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าหากมีภารกิจสำคัญ ปัญหาข้อสงสัยว่าผมกระทำผิดในคดีนี้ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแต่อย่างใด ทำให้เห็นได้ว่าความรู้ความสามารถของผมนั้น ยังเป็นที่ต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันนี้ผมขอพระคุณศาลซึ่งเป็นที่พึ่งในกระบวนการยุติธรรมสุดท้ายของผมในชั้นฎีกา และเป็นที่ประจักษ์ว่าผมกับผู้บังคับบัญชาไม่ได้กระทำตามที่กล่าวหา สำหรับตนเองไม่เป็นไร แต่สงสารผู้ใต้บังคับบัญชาไม่รู้เรื่องในทางการเมืองกลับโดนไปด้วย ต้องทุกข์ทรมาน ต้องประกันตัว ต้องมาศาลตลอดระยะเวลา 10 ปี ผมเห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างหนึ่งที่จะยืนยันได้ว่า เขาจะกลั่นแกล้งผมให้ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ให้ผมได้รับความก้าวหน้าอย่างไร ผมก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล เพื่อพิสูจน์ความจริง ไม่เหมือนบางคนกล่าวหาว่ากระบวนการยุติธรรม ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง แล้วหนีไปต่างประเทศ” พล.ต.ท.สมคิดระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้คดีฆ่านักธุรกิจซาอุฯ ถึงที่สุดแล้วจะมีการยื่นฟ้องใครหรือไม่ พล.ต.ท.สมคิดกล่าวว่า ตนได้ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนดีเอสไอและพนักงานอัยการไว้นานแล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 2553 ซึ่งศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ เพื่อรอคำพิพากษาคดีนี้ถึงที่สุด และจะนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง สำหรับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น และพนักงานสอบสวน ทราบอยู่แล้วว่านายสุวิชชัยหลบหนีหมายจับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ได้มีการคุ้มครองพยาน และแจ้งต่อศาลว่าพยานปากนี้ไปอยู่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย หรือกัมพูชา เพื่อขอให้ศาลอนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบต่างประเทศ ซึ่งทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้โต้แย้ง กระทั่งศาลพิจารณาสั่งตัดพยานปากนี้ ซึ่งตนได้ร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปที่หน่วยงาน ป.ป.ช. และขั้นตอนอยู่ระหว่างพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงตกเป็นเป้าหมายในการถูกดำเนินคดี พล.ต.ท.สมคิดกล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังเกตจากเมื่อปี 2552-53 มีนักการเมืองทางภาคเหนือคนหนึ่งมากล่าวหาตนว่าเป็นคนมีข้อครหาต้องคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ ทำไมถึงได้รับการแต่งตั้ง เขาทราบได้อย่างไร เพราะขณะนั้นยังไม่มีการเรียกตัวตนเองไปรับทราบข้อกล่าวหา แสดงว่าเขาต้องมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานดังกล่าว ส่วนประเด็นแหวนทองคำนั้น ตามหลักศาสนาอิสลามแล้วได้ห้ามผู้ชายมุสลิมสวมแหวนทองคำที่นิ้วมือ นอกจากนี้ พี่ชายนายอัลรูไวลีซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ก็ยังเบิกความเองว่านายอัลรูไวลีเป็นคนที่เคร่งศาสนา ทำให้เห็นว่าแหวนวงนี้ไม่เชื่อมโยงกับผู้ตายทั้งสิ้น เพราะเป็นแหวนต้องห้ามตามหลักศาสนา

เมื่อถามว่า แหวนทองคำดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร พล.ต.ท.สมคิดกล่าวว่า เป็นเท็จอยู่แล้ว เพราะคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแหวนทองคำเป็นแหวนที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นการหาพยานหลักฐานเพื่อให้เข้าเงื่อนไขเป็นพยานหลักฐานใหม่เพื่อจะดำเนินคดีตนกับพวก เนื่องจากก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการคดีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว หากจะดำเนินคดีใหม่จึงต้องมีหลักฐานใหม่ อีกทั้งพนักงานอัยการก็ไม่ได้อ้างแหวนวงนี้ไว้ในบัญชีพยาน หากเป็นพยานหลักฐานใหม่ก็ต้องระบุไว้ ส่วนประเด็นทางการเมืองเชื่อว่า มีความพยายามที่จะไม่ให้ตนได้รับความก้าวหน้าแต่งตั้งเป็น รอง ผบ.ตร.


กำลังโหลดความคิดเห็น