xs
xsm
sm
md
lg

“ฮาคิม” รอลุ้นศาลตัดสิน หลังอัยการยื่นคำร้องขอส่งตัวอดีตนักฟุตบอลบาห์เรนกลับประเทศบ้านเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - อัยการไทย ยื่นคำร้องขอศาลส่ง “ฮาคิม” อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน เป็นผู้ร้ายข้ามแดน กลับไปดำเนินคดีประเทศบ้านเกิด ซึ่งจะส่งผลให้ต้องถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ใน 4 ข้อหาคดีชุมนุมประท้วงรัฐบาล ด้าน อธิบดีอัยการต่างประเทศ ระบุ ไม่ได้กดดัน ศาลนัดสอบถาม 4 ก.พ. นี้

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ได้ยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน “นายฮาคิม อาลี โมฮัมเหม็ด อาลี อัล โอไรบี” (Hakeem Ali Mohamed Ali Al Oraibi) อายุ 25 ปี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน (นายฮาคีม ระบุได้สถานะลี้ภัยจากประเทศออสเตรเลีย) กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบาห์เรน ตามคำขอของทางการบาห์เรนที่ส่งมาให้ทางการไทย

โดยก่อนหน้านี้ นายฮาคิม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จับกุมตัวขณะเดินทางจากประเทศออสเตรเลีย เข้ามายังประเทศไทย ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 61 ซึ่ง นายฮาคิม ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในประเทศบาห์เรน ฐานทำลายทรัพย์สิน จากการสร้างความเสียหายต่อสถานีตำรวจในบาห์เรน โดยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 61 อัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอขังตัว “นายฮาคิม” ไว้ชั่วคราวด้วยเป็นเวลา 60 วัน ระหว่างรอคำร้องขอจากบาห์เรน ที่ขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าวว

ขณะที่คำร้องพนักงานอัยการที่ยื่นวันนี้ ขอให้ศาลวินิจฉัยการส่งตัวเป็นผู้ร้าย ระบุว่า ประเทศบาห์เรน และประเทศไทย ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน โดยพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 กำหนดให้รัฐบาลต่างประเทศสามารถร้องขอ ต่อรัฐบาลไทยให้ส่งตัวบุคคลที่กระทำผิดตามกฎหมายของประเทศที่ร้องขอ แม้ว่าประเทศนั้นไม่ได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย โดยให้รัฐบาลประเทศผู้ร้องขอนั้นทำคำรับรอง ที่จะปฏิบัติต่างตอบแทนกับรัฐบาลไทย โดยคดีนี้รัฐบาลบาห์เรนได้ให้คำรับรองดังกล่าวแล้ว ขณะที่การกระทำความผิดซึ่งมีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย และความผิดดังกล่าวจะต้องเป็นความผิดกำหนดโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร

โดยคดีนี้ รัฐบาลบาห์เรน ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ธ.ค. 2561 และเอกสารประกอบคำร้องขอ พร้อมคำแปลภาษาไทย ส่งผ่านวิถีทางการทูต ขอให้รัฐบาลไทยจับกุมและคุ้มขังชั่วคราว นายฮาคิม สัญชาติบาห์เรน ซึ่งถือหนังสือเดินทางบาห์เรน เพื่อดำเนินการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไปรับโทษตามคำพิพากษาที่ประเทศบาห์เรน ในความผิดฐาน 1. ลอบวางเพลิง สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน 2. ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายมากกว่า 5 คน ในที่สาธารณะ และใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรม และก่อกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน 3. ครอบครองวัตถุไวไฟ ซึ่งเป็นระเบิดขวด เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 4. ทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลของผู้อื่นเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญาบาห์เรน มาตรา 178, 179, 277/1, 277/2, 277 ทวิ, 409/1, 414/1 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกเกิน 1 ปีขึ้นไป และคดียังไม่ขาดอายุความ โดย นายฮาคิม นั้นเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาดังกล่าว ซึ่งศาลได้พิจารณาลับหลังและพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี แต่ นายฮาคิม หลบหนี สำนักงานอัยการบาห์เรน จึงได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2554

ซึ่งคดีนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารได้พิจารณาคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ของทางการบาห์เรนแล้ว เห็นว่า แม้ประเทศไทยกับประเทศบาห์เรนจะไม่มีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่รัฐบาลไทยก็สามารถให้ความร่วมมือกับรัฐบาลบาห์เรนได้ บนพื้นฐานหลักปฏิบัติต่างตอบแทน และคำร้องขอของทางการบาห์เรนก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 โดยเป็นความผิดอาญาที่สามารถลงโทษจำคุก 1 ปีขึ้นไป และไม่เป็นความผิดที่มีลักษณะในทางการเมือง หรือ ทางการทหาร ซึ่งทางการบาห์เรนก็ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตอบแทนหากรัฐบาลไทยร้องขอลักษณะที่คล้ายคลึงกันในอนาคต โดยคำรับรองของทางการบาห์เรนดังกล่าวลงไว้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 61

ทั้งนี้ อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ก็ได้พิจารณาพยานหลักฐาน ที่ปรากฏแล้วเห็นว่า การกระทำของ “นายฮาคิม” จำเลยตามคำร้องขอที่เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศบาห์เรนนั้น เทียบได้เป็นความผิดอาญาซึ่งกฎหมายไทยกำหนดให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218, 358, พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 16, 31, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 38 ซึ่งกฎหมายไทยและกฎหมายบาห์เรนดังกล่าวกำหนดโทษจำคุก 1 ปีขึ้นไป และคดียังไม่ขาดอายุความ อันเป็นความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนแก่กันได้ และจำเลยก็ยังไม่เคยได้รับการพิจารณาหรือปล่อยตัวสำหรับความผิดดังกล่าวในประเทศไทย หรือประเทศบาห์เรน มาก่อน อีกทั้งได้มีการออกหมายจับจำเลยไว้แล้ว ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจของไทย จับกุม “นายฮาคิม” ได้ตามหมายจับ และเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 61 อัยการก็ได้นำตัว “นายฮาคิม” มาขอให้ศาลมีคำสั่งขังไว้ก่อน ซึ่งศาลอาญาได้มีคำสั่งในวันที่ 11 ธ.ค.61 นั้นให้ขัง นายฮาคิม ไว้ก่อนมีกำหนด 60 วัน เพื่อรอหนังสือคำร้องขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

กระทั่งวันที่ 18 ม.ค. 2562 รัฐบาลบาห์เรน ได้มีหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐาน ส่งถึงอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ผ่าทางวิถีทางการทูต ให้ส่งตัว นายฮาคิม ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติบาห์เรนเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไปรับโทษตามคำพิพากษาที่ประเทศบาห์เรน

ดังนั้น โจทก์ จึงขอให้ศาลเบิกตัว นายฮาคิม ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ มาพิจารณาการร้องขอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป ซึ่งหากจำเลยจะยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นนี้ ก็ขอให้ศาลพิจารณาไม่อนุญาตการประกันตัวดังกล่าวด้วย เพราะหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี และจะไม่ได้ตัวมาดำเนินการที่จะพิจารณาเพื่อส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยศาลอาญา ได้ประทับรับคำฟ้องการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว ไว้เป็น คดีดำหมายเลข ผด.6/2562

ด้าน นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า ช่วงเช้าวันนี้พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่ง นายฮาคิม ซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลบาห์เรนกลับไปรับโทษตามคำพิพากษาที่ประเทศบาห์เรน จึงขอให้ศาลอาญาพิจารณาเพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามเเดนต่อไป ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. เวลา 09.00 น. นี้ ศาลจะเบิกตัว นายฮาคิม มาสอบถามความยินยอมกลับไปยังบาห์เรนตามที่อัยการได้ยื่นคำร้องหรือไม่ ซึ่งหาก นายฮาคิม ให้การยินยอมว่าจะกลับไปที่บาห์เรน ศาลอาญาก็จะมีคำสั่งให้ขังไว้เพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามเเดนต่อไปภายใน 90 วัน แต่หากนายฮาคิม ให้การต่อศาลว่าไม่ยินยอมที่จะกลับไปประเทศบาห์เรนตามคำร้อง ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ซึ่งจะไม่มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคดี เเต่เชื่อว่า การพิจารณาคดีจะไม่ช้า ขึ้นอยู่กับเเต่ละฝ่ายจะนำพยานขึ้นสู่การพิจารณาคดีมากเเค่ไหน

เมื่อถามว่า ประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ให้สถานะลี้ภัย ของนายฮาคิม ได้มีการประสานมาทางอัยการบ้างหรือไม่ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า ทางการออสเตรเลียได้มีหนังสือมาสอบถามอัยการเกี่ยวกับการได้รับความคุ้มครองของนายฮาคิม ในสถานะผู้ลี้ภัยของออสเตรเลีย แต่เราก็จะต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งนายฮาคิมก็สามารถที่จะนำหลักฐานไปเเสดงต่อศาล ในชั้นพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามเเดนได้เช่นกัน

ต่อข้อถามว่าก่อนที่จะยื่นขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อศาลได้ปรึกษากับรัฐบาล หรือฝ่ายบริหารมาก่อนหรือไม่ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางฝ่ายบริหารไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยว หรือ แทรกแซงเกี่ยวกับการพิจารณาหลักเกณฑ์ของเรื่องการยื่นเรื่องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีเพียงความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศที่ส่งเข้ามาสู่การพิจารณาของอัยการ ซึ่งอัยการก็ได้พิจารณาตามความเห็นของกระทรวงต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ส่งมาประกอบเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น